คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน
โดย การ์ตอง
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า "พรรคประชาธิปัตย์" ภายใต้การนำของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ค่อนข้างยากลำบากมากในการเดินบนเส้นทางการเมือง
"พรรคไทยรักไทย" ที่ก่อตั้งโดย "ทักษิณ ชินวัตร" ผนึกนักการเมืองจากเครือข่าย "อิทธิพลท้องถิ่น" เข้ากับ "กลุ่มทุนใหม่ที่สร้างความร่ำรวยได้อย่างรวดเร็วด้วยธุรกิจใหม่"
โครงสร้างของ "ไทยรักไทย" แม้ยังอาศัยโครงข่ายผู้กว้างขวางในท้องถิ่นเป็นหลักเหมือนกับที่ "ความหวังใหม่-สามัคคีธรรม" เคยชนะ "ประชาธิปัตย์" มาก่อนหน้านั้น
แต่ความพ่ายแพ้ของ "ประชาธิปัตย์" ต่อ "ไทยรักไทย" ภายใต้การนำของ "ทักษิณ" หนักหน่วงกว่า ตรงที่หลัง "ทักษิณ" เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ไม่ได้อ่อนเปลี้ยเพลียแรงในไม่ช้าเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคอื่น
"ทักษิณ" ได้แสดงให้เห็นถึงการบริหารทุนนิยมในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเห็นพลัง จนพลิกโฉมการเมืองใหม่กลายเป็นผู้นำที่เรียกศรัทธาประชาชนได้อย่างกว้างขวาง
สภาพเช่นนี้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในฐานะ "ผู้นำประชาธิปัตย์" ย่อมถูกกดดันไม่น้อย เพราะมีโอกาสสูงยิ่งที่ "พรรคไทยรักไทย" จะครองอำนาจยาวนาน
สถานการณ์เหมือนบีบบังคับให้ "พรรคประชาธิปัตย์" ต้องร่วมทางกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างลึกลึก จนทำท่าเลยกรอบสำนึกประชาธิปไตย
ยิ่งสู้ในเส้นทางนี้ก็ยิ่งลึก เพราะกลายเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จ "ทักษิณ ชินวัตร" ถูกไล่ขยี้ให้ถอยร่นครั้งแล้วครั้งเล่า จาก "ไทยรักไทย" เป็น "พลังประชาชน" มาเป็น "เพื่อไทย" และที่สุดก็อยู่ไม่ได้ มีแนวโน้มที่เครือข่ายของ "ทักษิณ" จะถูกขจัดออกจากเส้นทางการเมืองไทยอย่างถาวร
เส้นทางที่จะหวนคืนน่าจะถูกปิดตายสนิท
ท่ามกลางความเป็นไปนี้"พรรคประชาธิปัตย์" ภายใต้การนำของ "อภิสิทธิ์" เหมือนว่าร่วมอยู่ในขบวนแห่งความสำเร็จไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สรรพสิ่งล้วนมีสองด้านเสมอ
"พรรคประชาธิปัตย์" ได้ในส่วนที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการไล่ล้างเครือข่ายชินวัตร ซึ่งเป็น "ศัตรูการเมืองตัวแกร่ง" แต่ที่ "พรรคประชาธิปัตย์" ต้องตั้งรับอย่างหนัก คือ กระแสโจมตีเรื่อง "พรรคการเมือง" ที่ไม่ยึดถือหลักการของ "ประชาธิปไตย" แสวงอำนาจนอกวิถีแห่งอำนาจประชาชน
ด้านหนึ่งเป็นความสำเร็จใน เรื่องการสะสางหนทางสู่การครองอำนาจรัฐแต่อีกด้านหนึ่งเสียหายจากการถูกถล่ม หนักเรื่องทอดทิ้งความเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย
แต่นั่นดูเหมือนจะเป็นสภาพจำต้องยอมเพราะหาก "อภิสิทธิ์" ไม่นำพรรคในทิศทางนี้ ก็ยากที่จะทำลายล้าง "เครือข่ายทักษิณ" ซึ่งหากปล่อยให้คงอยู่เท่ากับโอกาสของ "ประชาธิปัตย์" ในอำนาจรัฐจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้
อดีตเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น
แต่ปัจจุบันในฐานะที่อย่างไรเสีย"ประชาธิปัตย์" ก็เป็นพรรคการเมืองที่การแสดงบทบาทจะเกิดขึ้นอย่างสมความภาคภูมิจำเป็นต้องเดินในเส้นทางประชาธิปไตย
ต้องแสดงให้เห็นจุดยืนที่มั่นคงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
เป็นโอกาสแห่งการกู้ฟื้นภาพลักษณ์ที่เสียหายไป
ในวันที่ "พรรคเพื่อไทย" หมดสภาพที่จะลุกขึ้นมาสู้ พรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ ไม่เป็นความหวังอะไรให้ได้
จึงมีแต่ "พรรคประชาธิปัตย์" เท่านั้น
โอกาสของ "ประชาธิปไตย" อยู่ในความหวังในบทบาทของ "ประชาธิปัตย์"
เป็น "ประชาธิปัตย์" ในการนำของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"