ศาลยกฟ้องคดีชาวบ้านนครปฐม ฟ้องยิ่งลักษณ์ทำน้ำท่วมใหญ่54

ศาลยกฟ้องคดีชาวบ้านนครปฐม ฟ้องยิ่งลักษณ์ทำน้ำท่วมใหญ่54

16 ก.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลปกครอง ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ส.23/2555
 
ที่ นางสุทธิรักษ์ ทองวานิช พร้อมพวกชาวบ้านใน จ.นครปฐม รวม 10 ราย ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ดำรงตำแหน่งขณะนั้น) , ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร , รมว.เกษตรฯ , กรมชลประทาน , กระทรวงหมาดไทย , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย , ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม , ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ และ กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้อง ที่ 1 - 11 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

จากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 11 บริหารจัดการน้ำผิดพลาด ทำให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลได้ไหลสู่พื้นที่ต่ำออกสู่ทะเล ผ่านแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง

นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้ปิดกันประตูระบายน้ำ วางสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นเหตุให้น้ำไม่ไหลไปตามทิศทางตามธรรมชาติ ทำให้น้ำท่วมขังบริเวณ จ.นครปฐม ทั้งยังส่งกลิ่นเน่าเหม็นและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย พร้อมขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย จำนวนกว่า 3.7 ล้านบาท และจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วม ขณะที่ระหว่างการพิจารณา นายวิชัย ชัยพัฒนศักดิ์ ผู้ฟ้องที่ 9 ได้ขอถอนฟ้อง จึงเหลือแค่ผู้ฟ้องที่ 1 - 8 และ 10 เท่านั้น

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าช่วงระหว่างเดือน มิ.ย. - ต.ค.54 ประเทศไทยเกิดพายุโซนร้อนและมรสุมจำนวนหลายลูก

รวมทั้งเกิดน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงสร้างความเสียหายให้กับสถานที่ต่างๆ และบ้านเรือนประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งที่พักอาศัยของผู้ฟ้อง โดยมีปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนต่างๆ อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนอื่นๆ มากที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งผู้ถูกฟ้องมีความพยายามในการระบายน้ำในระดับสูงสุดตามระบบสากลแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีประตูระบายน้ำหลายแห่งพังทลาย ส่งผลให้ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลไหลจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลาง รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ถูกน้ำท่วมด้วย

ระหว่างนั้นผู้ถูกฟ้องก็ได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ กทม.

ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ และการวางแนวกระสอบทรายขนาดใหญ่ หรือบิ๊กแบ็ค เป็นระยะทางยาวตั้งแต่สถานีตำรวจดอนเมือง ไปจนถึงประตูระบายน้ำคลอง 2 รวมทั้งการยกระดับถนนสูง 6 เมตร ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อบริเวณที่พักอาศัยของผู้ฟ้องซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.นครไชยศรี และ อ.สามพราน โดยตรง เพราะน้ำบริเวณดังกล่าวสามารถไหลลงสู่คลองทวีวัฒนา ก่อนที่จะเข้า จ.นครปฐม และไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนได้ จึงเป็นการวางแนวป้องกันน้ำฝั่งตะวันออก และเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบพื้นที่ กทม.ชั้นใน และพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ มิใช่การเลือกปฏิบัติที่จะป้องกันพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

ขณะที่ผู้ถูกฟ้องก็ได้ดำเนินการมาตรการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 5,000 บาทต่อหลังคาเรือนแล้ว
 
รวมทั้งมาตรการเยียวยาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและคำสั่งอื่นๆ การกระทำของผู้ถูกฟ้องจึงยังไม่เป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.420 และไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายที่กระทำล่าช้าเกินสมควร และไม่มีเหตุต้องชดใช้ค่าเสียหาย จึงพิพากษายกฟ้อง

โดย นางอภิญญา ชูสว่าง ผู้ฟ้องคดีที่ 3 กล่าวว่า ตนเคารพในคำพิพากษาของศาล แต่ในฐานะประชาชนผู้เสียหายเห็นว่า

รัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ซึ่งเงินช่วยเหลือที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมเสียหายตนก็ไม่ได้รับแต่อย่างใด รวมทั้งเห็นว่ารัฐบาลบริหารจัดการน้ำไม่ถูกต้อง ซึ่งบ้านตนถูกน้ำท่วมสูงถึง 1.50 เมตร ภายในระยะเวลาแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้เก็บข้าวขาวอพยพหนีออกมาไม่ทัน ซึ่งหากเกิดจากน้ำท่วมโดยธรรมชาติไม่น่าจะรวดเร็วขนาดนี้ อีกทั้งบ้านตนถูกน้ำท่วมก่อนที่จะสร้างแนวเสริมคันกั้นน้ำด้วย โดยสาเหตุทั้งหมดเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐบาล

ขณะที่ นายไอศูรย์ วิภูอัศธาดา ผู้รับมอบอำนาจจากทนายความผู้ฟ้องคดี เปิดเผยว่า หลังจากนี้คงจะต้องปรึกษากับทนายความและผู้ฟ้องคดีอีกครั้ง ว่าจะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ต่อไป


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์