แฉแผนลับ ทักษิณกดดัน ศาลรธนสั่งเปิดสภาหลังเลือกตั้ง 2เม.ย.

แฉแผนลับ "ทักษิณ"กดดัน "ศาลรธน"สั่งเปิดสภาหลังเลือกตั้ง 2เม.ย.

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 31 มีนาคม 2549 11:12 น.

การเมืองส่อเค้าวิกฤตหนักหลังเลือกตั้ง 2 เม.ย. 3พรรคฝ่ายค้าน-ม็อบกู้ชาติ-นักวิชาการ เตรียมยื่นเผือกร้อนมาตรา98ให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ"ตีความ จับตา "ทักษิณ"กดดันตุลาการศาลเร่งวินิจฉัยเปิดไฟเขียว "ประชุมสภา"เพื่อรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ กกต.เผยไต๋ดึงเกมพิจารณาคดี "ซื้อพรรคเล็ก" รอศึกสงบ

ถึงแม้หลายกลุ่มคนในสังคมจะไม่มีใครต้องการให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549ภายใต้ "ระบอบทักษิณ " เกิดขึ้นก็ตาม แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว กลับไม่มีใครสามารถต้านทานหรือ สกัดขัดขวางรูปแบบเผด็จการประชาธิปไตยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี ให้ล้มเลิกลงไปได้

สำหรับพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วการเลือกตั้งรอบนี้ดูจะมีความหมายในการฟอกตัวทางการเมืองอย่างมาก มากกว่าเมื่อครั้งเลือกตั้งในปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยแจ้งเกิดในสนามเลือกตั้งได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรือในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อ 6 ก.พ.2548 ในฐานะที่ต้องการรักษาความเป็น "แชมป์" นั่งบริหารเป็นรัฐบาลสมัยที่ 2 แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ 2 เม.ย.พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งในทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่ง "ศักดิ์ศรี" เพื่อเป็นการตอกย้ำความถูกต้องชอบธรรม ที่เดินหน้าทำมาตลอด 5 ปี ลบล้างกระแสคัดค้านและเสียงโห่ไล่ให้สงบลงอย่างเบ็ดเสร็จ

แม้ท้ายที่สุดแล้วจะต้องแลกมาด้วยการสูญเสียเงินประมาณในการเลือกตั้งกี่พันล้านบาท หรือการเดินไปสู่หนทางที่ตีบตันทางการเมืองและทางกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ในสายตาของพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วบอกได้คำเดียวว่าคุ้มเกินคุ้ม...!

การเมืองเผชิญวิกฤตหลังเลือกตั้ง2 เม.ย.

ในการเลือกตั้งที่มีขึ้นในวันที่ 2 เม.ย.นี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นติดตามมา สำหรับพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วอาจเป็นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง แต่ในทางการเมืองแล้วนักรัฐศาสตร์หรือนักนิติศาสตร์ รวมไปถึงกลุ่มคนชั้นกลาง ชนชั้นปัญญาชน กลับพบแต่ปัญหาหนักที่รอการปลดเงื่อนอย่างมากมาย โดยที่แต่ละเงื่อนปมล้วนแล้วแต่ผูกโยงไว้กับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และการเคลื่อนตัวของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายพันธมิตรกู้ชาติ รวมไปถึงกลุ่มม็อบที่หนุนพ.ต.ท.ทักษิณ คนเหล่านี้ต่างอยู่ในภาวะที่รอประเมินสถานการณ์หลังการเลือกตั้งอย่างใจจดจ่อ...

โดยเฉพาะ 4 อรหันต์แห่งกกต. ที่ตกอยู่ในฐานะ "จำเลยสังคม"ไปโดยปริยายในฐานะเป็นเครื่องมือของพ.ต.ท.ทักษิณ ผุดการเลือกตั้งให้มีขึ้น ทั้งที่รู้ว่าหลังจากนั้นจะเกิดสารพัดปัญหาติดตามมาก็ตาม

" ยอมรับว่าตั้งแต่พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศยุบสภา กกต.ก็ตกอยู่ในภาวะที่โดนกระแสสังคมกดดันมาโดยตลอด ถ้าจะพูดว่าพวกเราไม่เฉพาะคณะกรรมการทั้ง 4 คนเท่านั้นอยู่ในฐานะหลังพิงฝา ก็คงไม่ผิดนัก

แต่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้ง 2 เม.ย.ไปแล้วแรงกดดันน่าจะลดลง แต่อาจจะกลับไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแทน เนื่องจากจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของการตีความตามข้อกฎหมายที่ถูกถกเถียงกันอย่างหนักมากกว่า"

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ระบุกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" และชี้ว่าสถานการณ์ปัญหาต่างๆจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหนนั้น ภายหลังจากการเลือกตั้งจึงจะประเมินได้ชัดเจนมากขึ้น แต่สำหรับกกต.เองมีหน้าที่ที่จะต้องทำตามกรอบอำนาจหน้าที่ของตัวเองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจัดการเลือกตั้งใหม่ ในเขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 แม้ว่าเมื่อถึงเวลานั้นกกต.อาจจะถูกกดดันจากฝ่ายต่างๆว่าทำเพื่อช่วยให้พรรคไทยรักไทย สามารถเปิดการประชุมสภาผู้แทนฯได้ก็ตาม

"ศาลรัฐธรรมนูญ" รับเผือกร้อนวินิจฉัยม.98

สำหรับประเด็นที่มีข้อวิตกและกำลังกลายเป็นข้อถกเถียงกันอย่างมากว่า ภายหลังการเลือกตั้งไปแล้ว ส.ส.อาจผ่านการเลือกตั้งได้ไม่ครบ 500 คนจนส่งผลทำให้เปิดการประชุมสภาผู้แทนฯไม่ได้นั้น กกต.เองได้หารือเพื่อเตรียมหาทางออกตามช่องทางที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยกกต.อาจจะเสนอจำนวนส.ส.เท่าที่ได้หลังการเลือกตั้ง ไปสู่สภาผู้แทนฯ พร้อมทั้งให้เหตุผลว่ากกต.จำเป็นต้องรับรองส.ส.ในจำนวนเท่าที่มีอยู่

จากนั้นในส่วนของสภาผู้แทนฯจะนำเรื่องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไปว่า ในจำนวนส.ส.เท่าที่มีอยู่ โดยอาจจะไม่ครบทั้ง 500 คนจะสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนฯได้หรือไม่ ตามมาตร 98 ที่ระบุว่า สภาผู้แทนฯประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่ตำแหน่งส.ส.ว่างลงไมว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้ให้มีการเลือกตั้งส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่างลง ให้สภาผู้แทนฯประกอบด้วยส.ส.เท่าที่มีอยู่

"พอมาถึงจุดนี้เชื่อว่าสภาฯจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมา ว่าสภาจะสามารถเปิดได้หรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเปิดได้ ปัญหาก็จะเบาลง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สั่งให้เปิดประชุมสภานัดแรกได้ต่อไป

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมาว่า ไม่รับวินิจฉัยหรือตีความว่า เปิดการประชุมไม่ได้ คราวนี้ปัญหาก็จะบานปลายไปสู่การขอให้มาตรา 7 ต่อไปทันที"

เมื่อปัญหาเดินมาถึงจุดที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อย่างศาลรัฐธรรมนูญต้องตัดสินใจเพื่อแก้เงื่อนปมที่รัฐบาลไทยรักไทย ทำขึ้นมาจะส่งผลให้แรงกดดันไปอยู่ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะหากวินิจฉัยเข้าทางรัฐบาลก็มีสิทธิโดนคัดค้านจากกลุ่มพันธมิตรกู้ชาติและฝ่ายค้านทันที แต่หากมีมติว่า "ไม่รับพิจารณา"เหมือนคดีอื่นๆ การนำมาตรา 266 ขึ้นมาใช้กดดันศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะมีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากตามมาตรา 266 ระบุว่า ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรนั้นหรือประธานรัฐสภา เสนอเรื่องหรือความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

"กกต.ประเมินว่าความไม่พอใจจากสาธารณะมีมากพอสมควร ตั้งแต่แรกว่าต้องการให้กกต.เลื่อนการเลือกตั้งออกไป หรือทำเราล้มเลิกการเลือกตั้ง ซึ่งจากข้อเท็จจริงแล้ว เราไม่สามารถดำเนินการใดๆที่ขัดต่อพระราชกฤษฎีกายุบสภาได้ เว้นแต่จะต้องมีพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ขึ้นมาล้มเลิกฉบับเดิมไปก่อน"

กกต.สั่งดองคดี"ซื้อพรรค"รอศึกสงบ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากคณะกรรมการกกต. ยังระบุด้วยว่า การนำมาตรา 7 มาใช้นั้น มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ภายหลังจากที่ข้อกฎหมายต่างๆที่นำมาใช้สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า "ติดกับ"ทุกทางแล้วเท่านั้น นอกจากนี้สำหรับการพิจารณาประเด็นคดีความทางการเมืองที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ดำเนินการฟ้องร้องกล่าวหาว่าพรรคไทยรักไทยกระทำทุจริตกรณีจ้างวานพรรคการเมืองเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อตัดปัญหาคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 20 นั้นมีความเป็นไปได้ว่าในระหว่างนี้กกต.จะยังไม่พิจารณาคดีดังกล่าวอย่างแน่นอน และอาจจะดึงเรื่องให้เลยสถานการณ์ที่ตึงเครียดในเวลานี้ออกไปก่อน

"เพราะถ้ากกต.พิจารณาคดีนี้ออกมาแล้วชี้ว่าใครผิด พยานของใครพูดจริง จะมีผลได้ผลเสียกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทันที และที่สำคัญจะทำให้สถานการณ์การเมืองยิ่งเลวร้ายลงไปมากกว่า จากนั้นคดีอาจจะได้รับการพิจารณาหลังจากที่ทุกอย่างเงียบลงแล้ว "

ทรท.ชี้ปชป.ขน"คน-เงิน"สมทบ "ม็อบกู้ชาติ"

ขณะที่กลไกตามรัฐธรรมนูญอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง เดินหน้าไปตามกรอบของกฎหมาย ผลักดันให้การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอยู่ ณ เวลานี้ท่ามกลางแรงกดดันจากม็อบพันธมิตร และ 3 พรรคฝ่ายค้านอย่างหน้าดำคร่ำเครียด ทั้งยังประเมินสถานการณ์หลังการเลือกตั้งว่าจะเกิดวิกฤตหนักหนาสาหัสก็ตาม แต่สำหรับผู้สมัครในไทยรักไทยเองที่กำลังสวมบทบาทเป็น "นักเลือกตั้ง"จำนวนไม่น้อยยังเชื่อมั่นว่า หากการเลือกตั้งมีขึ้นวันที่ 2 เม.ย.นี้ก็เท่ากับว่าพ.ต.ท.ทักษิณและไทยรักไทย ได้ชัยชนะไปแล้ว ไม่ว่าผลคะแนนจะออกมามากน้อยอย่างไรก็ตาม

"ก่อนหน้านี้ มีกระแสคัดค้านไม่ให้มีการเลือกตั้งค่อนข้างรุนแรง แต่เมื่อล่าสุดมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองออกไปใช้สิทธิล่วงหน้า ที่ผ่านมาแรงต้านมันก็ลดลง ซึ่งพรรคขอแค่ให้มีการเลือกตั้ง 2 เม.ย.นี้เท่านั้น ปัญหาต่างๆก็น่าจะคลี่คลายไปได้มาก

ส่วนปัญหาเรื่องผู้สมัครได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 นั้นพรรคก็มีทางแก้ไขไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าพรรคเล็กๆน่าจะได้เสียงเข้ามาบ้าง หรือหากจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ในบางเขต ก็คงไม่มีปัญหาเพราะเป็นหน้าที่ของกกต.และเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว"

แหล่งข่าวจากพรรคไทยรักไทยระบุ พร้อมทั้งเชื่อว่าการชุมนุมของกลุ่มม็อบพันธมิตร ที่พยายามดำเนินยุทธวิธีต่างๆนั้น จนวันนี้น่าจะอยู่ในอาการที่อ่อนล้า และเริ่มมีปัญหาในเรื่องเงินทุนมากขึ้น เนื่องจากมีรายงานแจ้งว่าล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าไปช่วยจัดคนจากส่วนต่างๆเดินทางมาร่วมสมทบกับพันธมิตรในกรุงเทพฯมากขึ้น

"วันนี้คิดว่าเงินทองที่เคยมีคนมาช่วยเหลือเริ่มติดขัดและมีปัญหามากขึ้น บวกกับความอ่อนล้าจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อหลายสิบวันที่ผ่านมา อาจลดความรุนแรงลง สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือทำอย่างไรให้มีการประชุมสภา ฯเพื่อเลือกนายกฯต่อไปได้เร็วที่สุดมากกว่า "

สำหรับนักเลือกตั้งของไทยรักไทยหลายคนแล้ว อาจหวังแค่เพียงได้มีโอกาสผ่านสนามเลือกตั้งเพื่อได้กลับเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนฯอีกครั้ง ไม่ว่าจะดำเนินไปตามการเมืองรูปแบบใดก็ตาม หรือจะมีวิกฤตหนักหนาแค่ไหนรออยู่เบื้องหน้าก็ตาม เพราะทุกคนในไทยรักไทยรู้ดีว่า ปัญหาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่จะได้รับการคลี่คลายด้วยมือของพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างแน่นอน

จับตา"ทักษิณ"ขออำนาจให้ตัวเองผ่านมาตรา 7

ในจุดนี้นักรัฐศาสตร์จาก สถาบันพระปกเกล้าฯ "ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ " ได้สะท้อนว่าภายหลังการเลือกตั้งไปแล้วสังคมไทยจะไม่สามารถหลีกหนีไปจากประเด็นปัญหาในทางกฎหมายและประเด็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งทั้งสองส่วนล้วนแล้วถูกผูกขึ้นมาจากการตัดสินใจประกาศ "ยุบสภา"โดยตรง

การเลือกตั้งท่ามกลางปัญหาและส่งผลให้ช่องทางทางกฎหมายถูกปิดตายมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ยิ่งเหมือนเป็นการยั่วยุให้เกิดแรงต่อต้านจาก 3 พรรคฝ่ายค้าน กลุ่มพันธมิตรกู้ชาติตลอดจนกลุ่มนักวิชาการรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหากกกต.ต้องดำเนินการเลือกตั้งใหม่เพื่อแก้ปัญหา คะแนนเลือกตั้งไม่เกินร้อยละ 20 ประเด็นคำถามเรื่องการใช้เงินเพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งจะเป็นการตอกย้ำให้เห็นความผิดพลาดจากการผลักดันให้มีการเลือกตั้งตามต้องการของพ.ต.ท.ทักษิณ ชัดเจนยิ่งขึ้น

"ดังนั้นหลังเลือกตั้งอาจจะมีกลุ่มคนร่วมเดินขบวนคัดค้านร่วมกันม็อบกู้ชาติมากขึ้น นอกเหนือไปจากคนกลุ่มเดิม ๆ โดยอาจจะมีกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มรัฐวิสาหกิจ หรือรวมทั้งอาจจะมีข้าราชการบางส่วนออกมาเพิ่ม เนื่องจากเห็นความไม่ถูกต้องชัดเจนมากขึ้น"

ขณะที่การรวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องและกดดันจากภาคประชาชนเริ่มขยายวงมากขึ้น นักรัฐศาสตร์จากสถาบันพระปกเกล้าฯ เชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะเร่งดำเนินการทุกทางเพื่อให้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนฯให้ได้โดยเร็ว แม้อาจจะต้องหันไปกดดันให้ศาลรัฐธรรมนูญ รับตีความและวินิจฉัยมาตรา 98 เพื่อให้เปิดประชุมได้ก็ตาม ภายใต้ข้ออ้างที่ว่าทุกอย่างกระทำภายใต้กฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์การกดดันรัฐบาลทวีความรุนแรงมากขึ้น จนอาจทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องตัดสินใจเลือกใช้ มาตรา 7 เพื่อเป็นการผ่าทางตันในที่สุด ส่วนการขอใช้มาตรา 7 ตามความประสงค์ของพ.ต.ท.ทักษิณ นั้นหากทำเพื่อขอให้ตัวเองมีอำนาจมากขึ้น ก็จะส่งผลเสียต่อตัวเองมากกว่า

"โดยการขอใช้ มาตรา 7 ของพ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะขอใช้อำนาจ ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองได้เสียงข้างมาก และอ้างว่าทุกอย่างมาถึงทางตันหมดแล้ว"

สถานการณ์การเมืองที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่หนทางที่ตีบตัน ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หลังการเลือกตั้ง 2 เม.ย.จะมีความชัดเจนและทวีความรุนแรงมากขึ้นนั้น แม้หลายฝ่ายจะพยายามหาทางออกร่วมกัน แต่ดูเหมือนทุกทางออกจะมีกุญแจที่ไขไปสู่ทางสว่างเพียงดอกเดียว นั่นคือการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่โดยที่ไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ นั่งเป็นประธานอยู่หัวโต๊ะ.... ไม่มีพ.ต.ท.ทักษิณ นั่งเป็นประธาน "รัฐบาลแห่งชาติ" เพียงสถานเดียวเท่านั้น

ที่หลายฝ่ายล้วนแล้วพุ่งเป้าไปที่ต้นเหตุของปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม คือการตัดสินใจยุบสภาของพ.ต.ท.ทักษิณ โดยที่ไม่ได้คำนึงว่าจะสร้างผลกระทบกับฝ่ายการเมือง ข้อกฎหมาย รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์