กกต.ไม่หวั่นเสียงวิจารณ์หลังชงข้อเสนอปฏิรูประบบเลือกตั้ง ยันกลั่นกรองจากประสบการณ์กว่า 16 ปี ย้ำให้ ส.ส.มีวาระ 2 ปี หวังสกัดปัญหาสืบทอดอำนาจ
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์
รวมทั้งนักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือก ตั้งของ กกต. โดยเฉพาะเรื่องการให้ส.ส.ดำรงตำแหน่งได้เพียงแค่ 2 วาระ หรือ 8 ปี ว่า กกต.เคารพและน้อมรับทุกข้อคิดเห็นที่มี แต่ที่ กกต.มีข้อเสนอดังกล่าวไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น เป็นการรวบรวมจากประสบการณ์การจัดการเลือกตั้งมากว่า 16 ปี ไม่ใช่เสนอไปตามสิ่งที่ คสช.ต้องการจะเห็น และเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาการสืบทอด อำนาจทางการเมืองได้ อีกทั้งที่ผ่านมาสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็เคยมีการเสนอแก้ไขกฎหมายไม่ให้นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันไม่เกินกว่า 2 วาระ ซึ่งเรื่องดังกล่าว กกต.จะไม่ขอโต้แย้ง และอยากให้ทุกคนที่มองโลกในแง่ดี และเป็นนักการเมืองมาหลายสมัย ได้รวบรวมความคิดเห็น และเขียนส่งความคิดเห็นดังกล่าวไปให้กับสภาปฏิรูปของ คสช. ที่พร้อมจะรับความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
“ข้อเสนอ นี้เป็นเพียง 1 ใน 4 ที่ กกต.ได้รวบรวมตอบโจทย์ 6 ข้อที่ คสช. ให้มาโดยมีเนื้อหาจำนวน 20 หน้า การบอกไปแค่นี้ กกต.ก็โดนกระหน่ำแล้ว แต่ของจริงคือรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ กกต.ดูแลอยู่รวม 5 ฉบับ ซึ่ง กกต.จะพิจารณาจากเฉพาะที่ กกต.มีอำนาจ และมีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในระดับสำนักงานจะเริ่มพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยจะพิจารณาทุกวัน จนกว่าจะเรียบร้อยเพื่อจะได้แล้วเสร็จโดยเร็ว” เลขาธิการ กกต. กล่าวและยืนยันว่า การให้ข้อมูลกับคณะปฏิรูปครั้งนี้ เป็นเพียงการรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะ ไม่ได้มีการฟันธงใด ๆ และกระแสที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้มีในแง่ลบด้านเดียว แต่มีในด้านบวก ซึ่งในส่วนของกกต.ก็ได้ส่งข้อเสนอดังกล่าวไปยัง คสช.แล้วหลังประธาน กกต.ลงนาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กกต.วันนี้ ได้มีการหยิบยกกระแสการแสดงความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับข้อเสนอของ กกต.ในการแก้ไขกฎหมาย
เพื่อการปฏิรูปการเลือกตั้ง ทั้งจากพรรคการเมือง และนักวิชาการขึ้นมาพูดคุยกัน อย่างไรก็ตามต่างไม่ได้รู้สึกเครียดหรือเห็นว่าจะต้องมีการทบทวนข้อเสนอที่ ได้ส่งไปยังคณะทำงานปฏิรูปการเมืองของ คสช.ใหม่ เพราะมองว่าสิ่งที่ได้เสนอไป เป็นเพียงการเสนอข้อดีข้อเสีย ไม่ได้มีการระบุเฉพาะเจาะจงว่าต้องมีการแก้ไขเป็นอย่างไร เพราะถือเป็นหน้าที่ของสภาปฏิรูป.