โฆษกคสช. ปัด "ทักษิณ" เอี่ยว "มติอียู" ทบทวนมาตรการยุติความร่วมมือไทย
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) แถลงการณ์ยุติความร่วมมือไทยและเรียกร้องให้ไทยมีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ว่า เรามีความผิดหวังกับแถลงการณ์ดังกล่าวเพราะคสช.มีการชี้แจงกับหลายประเทศในเวทีต่างๆ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้อียูทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ได้ประกาศออกมา ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ให้ความร่วมมือที่ดีกับอียูในหลายๆ เรื่อง โดยในส่วนมาตรการที่ทางอียูพูดถึงการระงับการมาเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกันและสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทยนั้นยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนที่ต้องผ่านรัฐสภาของประเทศในอียูอีก 2 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น ดังนั้นไทยกับอียูเองยังคงมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกหลายกรอบจึงมีความคาดหวังว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยผ่านไปจะทำให้อียูเห็นพัฒนาการทางการเมืองของเราและนำไปทบทวนถึงมาตรการหลายๆ อย่างที่ได้ประกาศออกมา
ผลกระทบเบื้องต้นคือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ของประเทศในอียูจะไม่เดินทางมาประเทศจึงอาจทำให้การประสานงานต่างๆ ไม่สะดวกเพราะไม่ได้มีการพบปะอย่างเป็นทางการ แต่ตนเชื่อว่านอกเหนือจะมาตรการที่ออกมานั้นไทยกับอียูยังคงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในหลายๆ เรื่องนอกเหนือจากมาตรการที่ออกมา ส่วนผลกระทบด้านการท่องเที่ยวนั้นตนเชื่อว่าในระดับประชาชนเองจะไม่มีผลกระทบอะไร เพราะคนไทยหลายคนมีญาติมิตรเป็นชาวยุโรปก็ยังคงไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ก่อนที่เราจะไปถึงการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้น เงื่อนไของค์ประกอบในการนำไปสู่การเลือกตั้งมันคงต้องมีอะไรบ้าง ซึ่งเราต้องจัดการให้ประเทศอยู่ในสถานะพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในอนาคต
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า หัวหน้าคสช.ได้ฝากกับทุกหน่วยงานให้เร่งชี้แจงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ทุกภาคส่วนจึงต้องทำงานอย่างเต็มที่โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้การออกมาตรการต่างๆ ของอียูไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด รวมทั้งในที่ประชุมหัวหน้าคสช.ไม่ได้พูดถึงกรณีดังกล่าวเลย