"ชวนนท์" แนะทำเรื่องค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติ เชื่อไทยถูกลดอันดับ เพราะมีข่าวด้านลบ ด้าน "อดีต รมว.พม."แนะ คสช.เร่งแก้ปัญหา แจงต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 22 นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตเลขานุการ รมว.ต่างประเทศ
กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริการายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทีไอพี) ประจำปี 2014 พบว่าไทยโดนปรับลดอันดับมาอยู่ต่ำสุด ว่า ในฐานะที่ตนเคยทำงานกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลมีความเอาจริงเอาจังในเรื่องการปราบปรามปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาสำคัญคือประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้มีการอพยพเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนมากและยังมีการใช้วัตถุดิบ รวมถึงผลผลิตต้นน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบางครั้งมีปัญหาเรื่องของกฎหมายและการใช้แรงงานทาส ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนเชื่อว่าประเทศไทยไม่มีเจตนาจะไปกระทำการให้เกิดความสุญเสียหรือทำอะไรที่ผิดหลักการ แต่เรื่องของการบริหารจัดการของภาค
อุตสาหกรรมและปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะมีอยู่บ้าง ซึ่งตนเชื่อว่าหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.)ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ
ตั้งแต่ประเทศที่มาของแรงงาน การควบคุมวงจรการผลิตอย่างครบถ้วน รวมทั้งปราบปรามกลุ่มที่หาผลประโยชน์กับการใช้แรงงานอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายทำเรื่องดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาก่อนที่ประเทศไทยจะเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
“การที่เราอยู่อันดับเทียร์ 2แล้วถูกปรับลงมาอยู่ที่เทียร์ 3 เนื่องจากข่าวที่ออกไปดูเหมือนไทยไม่เอาจริงเอาจังกับการค้ามนุษย์ จึงคิดว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจและเอาจริงเอาจังกับการเผยแพร่ข่าวสาร และน่าจะมีการเชิญหน่วยงานด้านแรงงาน และสิทธิมนุษยชนลงพื้นที่เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริง โดยไม่ยึดถือข่าวด้านลบอย่างเดียวก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง”นายชวนนท์ กล่าว
ด้านนายอิสสระ สมชัย อดีตรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องนี้ยังมีอยู่จริง
และมีอยู่ในเกือบทุกประเทศ ซึ่งในไทยก็มีแต่อยู่ในสถานะที่น้อยลงกว่าอดีต ซึ่งตนคิดว่าการที่ประเทศสหรัฐฯประกาศให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 นั้นขัดต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาในเกือบทุกรัฐบาลก็มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อีกทั้งคำว่าการค้ามนุษย์มีความหมายที่กว้างขวางมาก เพราะรวมปัญหาสังคมและสัมพันธ์ถึงเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งปัญหาสังคมต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาขอทาน ปัญหาเด็กหรือคนจรจัด การใช้แรงงานเด็กและสตรี ปัญหาการบังคับเด็กและสตรีค้าประเวณี ปัญหาแรงงานในเรือประมงซึ่งโยงถึงปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งที่เข้ามาทำงานโดยถูกกฎหมายและหลบหนีเข้าเมืองคือผิดกฎหมาย ที่จะเชื่อมโยงต่อไปถึงปัญหาใหญ่ที่ถูกระบุในรายงานประจำปีของทางสหรัฐฯ
“ในเกือบทุกปัญหาที่เอ่ยถึงมีความเกี่ยวเนื่องในหลายกระทรวง หลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมฯแต่ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ปัญหาการบังคับใช้แรงงานในภาคประมง ตรวจสอบได้ยากเพราะออกไปทำกันในทะเล จะติดตามตรวจสอบใกล้ชิดทำได้ยาก และผู้ใช้แรงงานต่างด้าวเองส่วนใหญ่หลบหนีเข้าเมืองจึงเป็นปัญหา แต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาลหรือประเทศไทยจะละเลยไม่แก้ไข เรายังมีข่าวการตรวจตราจับกุมตลอดและบางครั้งก็ไม่เป็นข่าวในหน้าสื่อ แต่ในพื้นที่ต่างๆจะรู้กัน ดังนั้นการจัดลำดับให้ไทยอยู่ในระดับ 3 จึงมองได้ว่าเป็นการประกาศที่รุนแรงเกินไป ทั้งที่ข้อเท็จจริงไทยเองมีการเน้นย้ำให้แก้ไขปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด จนมีบางฝ่ายออกมาระบุว่าเป็นการดิสเครดิสในช่วงที่ คสช.เข้ามาบริหารปกครองประเทศหรือไม่”นายอิสสระ กล่าว
นายอิสสระ กล่าวอีกว่า การทำรายงานนี้ทางการสหรัฐฯ จะดูข้อมูลในทุกปีและประกาศเป็นประจำรายปี
ดังนั้นการประกาศว่า ไทยเราบกพร่องในเรื่องนี้จนถูกลดระดับลงมาที่เทียร์ 3 จึงถือว่าต้องเป็นผลงานของรัฐบาลที่แล้ว ที่ไม่เร่งดำเนินการแก้ไขให้เห็นเป็นรูปธรรม และไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับ คสช. ทั้งนี้ขอแนะนำให้ คสช.เร่งปรับปรุงแก้ไขต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะตามข้อสังเกตของรายงานสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในไทยที่ทางสหรัฐฯได้ตั้งข้อสังเกตไว้และต้องเร่งทำความเข้าใจ โดยการชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจต่อสังคมโลกและประเทศเพื่อนบ้านของไทยให้ทั่วถึง และจริงจังจะสามารถทำความเข้าใจข้อเท็จจริงให้เข้าใจสถานการณ์ที่ถูกต้อง โดยไม่มีอคติใดๆ นอกจากนั้นตนขอเสนอให้ย้ายกองบังคับการตำรวจป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่อยู่ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ให้ขึ้นอยู่กับพม.เพราะลักษณะงานและเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปราบปรามปัญหาในเรื่องเหล่านี้ให้เป็นระบบ เพื่อความชัดเจน และประสิทธิภาพในการทำงาน.