ศาลรวมคดีญาติ 2 ใน 6 ศพ วัดปทุมฯ ฟ้องเอาผิด "มาร์ค-เทือก" ในข้อหาฆ่า
จากเหตุการณ์ปราบม็อบเสื้อแดงเมื่อพ.ค.53 ให้เป็นสำนวนเดียวกับคดี 99 ศพ ที่อัยการคดีพิเศษยื่นฟ้องอดีตนายกฯ ต่อศาลอาญา ในข้อหาร่วมกันก่อ หรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผล เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาคดี
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลมีคำสั่งให้โอนสำนวนในคดี
ที่นายขาล ศรีรักษา บิดานายสุวัน ศรีรักษา และนางสุนันทา สมอาษา มารดานายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้เสียชีวิต 2 ใน 6 ศพวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กับคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์เป็นจำเลยในความผิด ฐานร่วมกันก่อ หรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ให้เป็นคดีเดียวกันกับคดีหลักที่ศาลอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า สำหรับคดีหลักที่ศาลอาญานั้น พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นำตัวนายอภิสิทธิ์ส่งฟ้องต่อศาลอาญาไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2556
โดยสืบเนื่องกรณีที่ศาลมีคำสั่งว่าการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง และ ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ และกรณีเจ้าหน้าที่ยิงนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ได้รับบาดเจ็บสาเหตุ ในเหตุการณ์ปราบม็อบเสื้อแดงเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553
ต่อมา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2557 และอนุญาตให้นายสมร ไหมทอง ผู้ได้รับบาดเจ็บ และนางหนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน เป็นโจทก์ร่วม
ตามที่ยื่นคำร้องต่อศาล นอกจากนี้ ศาลให้มีหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังรับไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องการใช้อำนาจออกคำสั่งต่างๆ ของนายอภิสิทธิ์ ในฐานะ นายกฯ ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยหน้าที่หรือไม่ ก่อนนัดพร้อมเพื่อฟังผลการสอบถามจาก ป.ป.ช. ในวันที่ 23 มิ.ย. เวลา 09.00 น. ขณะที่นายสุเทพถูกนำตัวส่งฟ้องศาลอาญาไปเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ก.ค.
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้ตายกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย
ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในข้อหาเดียวกับอัยการคดีพิเศษ เพียงแต่แตกต่างกันตรงที่ขอให้แยกการลงโทษเป็นต่างกรรมต่างวาระ และในวันที่ 2 มิ.ย. นี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้โอนสำนวนคดีมารวมกับคดีหลักที่อัยการคดีพิเศษ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพที่ศาลอาญา เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาคดีต่อไป