ข้อเท็จจริงกรณี เว็บไซต์ Pulo.org และ Manusaya.com เวบที่จ้าบจ้วงเบื้องสูง

ข้อเท็จจริง สรุปผลการสืบสวนกรณีเว็บไซต์ Pulo.org และ Manusaya.com

ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวสารอันเป็นเท็จ ทางสื่อมวลชน ทางเว็บไซต์ กระดานข่าว และอีเมล์ กล่าวหาว่าเว็บไซต์ manusaya.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จาบจ้างสถาบันเบื้องสูงนั้น จัดทำโดยคนในรัฐบาล โดยมีที่ตั้ง Server ของเว็บไซต์อยู่ในทำเนียบรัฐบาล และได้รับการสนับสนุนการเงินจากคนในรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพื่อความกระจ่างชัด จึงขอเสนอข้อเท็จจริงให้ทราบดังนี้

สถานการณ์

1. หลังเหตุการณ์ลอบเผาโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้การปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 เว็บไซต์พูโล (www.pulo.org) ซึ่งถูกปิดกั้นการเข้าดูและไม่มีการปรับข้อมูลมาตั้งแต่ปลายปี 2545 ได้ปรับเนื้อหาใหม่โดยใช้สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ในช่วงนั้นโจมตีรัฐบาลและเน้นการเรียกร้องรัฐอิสระ และสร้างเว็บไซต์อย่างน้อยอีก 2 แห่งเป็นเครือข่ายในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ หลังเหตุการณ์ความไม่สงบที่มัสยิดกรือเซะเมื่อ 28 เมษายน 2547 เว็บไซต์พูโลได้โจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง ประกาศข่มขู่ที่จะทำร้ายประชาชนและนักท่องเที่ยว เรียกร้องขอเอกราชให้กับ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา เพื่อตั้งเป็นเมืองปาตานีรายา และข่มขู่ให้ชาวไทยพุทธ อพยพออกจากพื้นที่ดังกล่าว

2. ตั้งแต่ 24 มีนาคม 2547 เกิดเว็บไซต์ชื่อ manusaya.com เผยแพร่ข้อมูลหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอย่างต่อเนื่องซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายกรณี เช่น เหตุการณ์เดือนพฤษภา เหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ มาแต่งเติมเรื่องราวในลักษณะมุ่งเน้นการลดความเคารพเชื่อถือศรัทธา และจาบจ้วงพระราชวงศ์ทุกพระองค์ นอกจากนี้กลุ่มผู้จัดทำเว็บไซต์ดังกล่าวยังทำเว็บไซต์อีกหลายแห่งบนเครือข่ายในต่างประเทศเพื่อเผยแพร่ข้อความในลักษณะดังกล่าว และยังนำข้อความไปเผยแพร่ไว้ในกระดานข่าวตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดกระแสการรับรู้และการต่อต้านขยายไปในวงกว้าง

การดำเนินการต่อต้าน

3. เพื่อเป็นการยับยั้งมิให้ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูงและการเผยแพร่ข้อความโฆษณาชวนเชื่อของเว็บไซต์พูโลเผยแพร่ในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งได้เฝ้าติดตามสืบสวนเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดมา จึงได้ใช้มาตรการปิดกั้นไม่ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเผยแพร่สู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากบริษัท ISP ต่าง ๆ แต่มีบริษัท ISP บางแห่งไม่สามารถปิดกั้นได้เพราะมีปัญหาทางเทคนิค นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้วยังมีการติดตามเฝ้าตรวจตรา เพื่อลบข้อความที่นำมาจากเว็บไซต์ดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในกระดานข่าวของเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ดูแลเว็บไซต์ (Webmaster) ต่าง ๆ และใช้การตอบโต้เชิงรุกต่อเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูงและเว็บไซต์พูโล มาตั้งแต่ 27 มีนาคม 2547 เป็นต้นมา โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจอย่างดียิ่งจาก กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์ ผู้รักชาติหลายกลุ่มตลอดมา

4. ผลการต่อต้านเว็บไซต์ข้างต้น สามารถทำให้เว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูง อย่างน้อย 4 แห่ง ต้องปิดไป ขณะที่เว็บไซต์อื่นบนเครือข่าย geocities.com ยุติการปรับเนื้อหา เหลือเพียงเว็บไซต์ manusaya.com บนเครือข่ายของบริษัท netfirms ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศแคนาดา เพียงแห่งเดียวที่มีการปรับเนื้อหา ส่วนมาตรการปิดกั้นเว็บไซต์พูโลและเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูงในระยะหลังไม่ได้ผล เพราะกลุ่มผู้จัดทำได้เปิดเผยเทคนิควิธีการเข้าดูเว็บไซต์ให้กับบุคคลทั่วไป

5. ในการประสานความร่วมมือกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผ่านคณะกรรมการ Cyber Inspector บริษัท ISP และผู้ดูแลเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น และยังได้รับความร่วมมือจากมิตรประเทศ รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้เจรจากับเจ้าของเครือข่ายต่างประเทศที่เว็บไซต์พูโลและเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูง manusaya.com เช่าพื้นที่อยู่ เพื่อให้ปิดเว็บไซต์ ซึ่งในกรณีเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูง ทางหน่วยงานเจ้าของประเทศไม่สามารถดำเนินการให้ได้เนื่องจากถือว่าการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ในลักษณะนี้ยังไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่ทางราชการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่าย Netfirms จึงสามารถนำมาขยายผลสืบสวนได้

ผลการสืบสวน

6. ผลการสืบสวนทั้งจากหลักฐานทางเทคนิคและความร่วมมือจากหน่วยงานมิตรประเทศ ทำให้สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่า กลุ่มผู้จัดทำเว็บไซต์พูโลและเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูง เป็นผู้จัดทำเว็บไซต์ thaily.com มีชื่อว่า นายอับดุลรอสะ เจะเง๊าะ ซึ่งมีชื่อเรียกในสวีเดนว่า Abdulrosa Basil Jehngoh อายุ 39 ปี ภูมิลำเนาอยู่ จ.ปัตตานี และได้สัญชาติสวีเดน แล้ว สำเร็จการศึกษาสาขา Linguistics and Phonetics มหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน และเคยเดินทางเข้าไทยเมื่อปี 2546 โดยถือสัญชาติสวีเดน

7. นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ร่วมมืออีกอย่างน้อย 1 คนใช้ชื่อในสวีเดนว่า นายชิบลีย์ ปูตรา เจะเง๊าะ (Shiblee Putra Jehngoh) อายุประมาณ 21-22 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.ปัตตานี และเป็นญาติกัน โดยทั้งสองคนในขณะนั้นพักอยู่ที่ Vikinga เมืองลุนด์ ประเทศสวีเดน นายชิบลีย์ฯ ยังสมัครเป็นสมาชิกเว็บไซต์ pantip.com โดยใช้ชื่อว่า Shiblee และเคยแสดงความคิดในกระทู้ต่าง ๆ ในลักษณะโจมตี นายกรัฐมนตรี และชื่นชมเนื้อหาเว็บไซต์พูโล ทั้งยังเคยนำเนื้อหาในเว็บไซต์พูโลไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ pantip.com และเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย

8. ผลการสืบสวนสามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่านายชิบลีย์ฯ ใช้อินเทอร์เน็ตของบริษัท Telia Network Service ในสวีเดน ซึ่งเป็นข้อมูลทางเทคนิคสำคัญที่ยืนยันว่าใช้อินเทอร์เน็ตมาจากแหล่งใด เครื่องคอมพิวเตอร์ของนายชิบลีย์ฯ อยู่ที่บ้านพักในประเทศสวีเดน มีการต่อเชื่อมเป็นระบบเครือข่าย LAN วงเล็ก ๆ ใช้ในบ้านดังกล่าว มีบุคคลอื่นใช้งานในระบบเครือข่ายอยู่ด้วยอย่างน้อยอีก 2 เครื่อง และจากการเฝ้าตรวจตามกระดานข่าวของเว็บไซต์หลายแห่งพบว่า ผู้ที่นำข้อความในเว็บไซต์พูโลและเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูงไปเผยแพร่นั้น ได้ใช้ IP Address เดียวกันกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านนายชิบลีย์ฯ ใช้งานอยู่

9. หลักฐานการยืนยันความผิด

9.1 เมื่อ 24 มิ.ย.47 จากความช่วยเหลือของมิตรประเทศทำให้สามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่ใช้พื้นที่บนเครือข่าย netfirms จัดทำเว็บไซต์พูโลมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในสวีเดน โดยมีหมายเลข IP Address เดียวกันกับที่นายชิบลีย์ใช้งานอยู่ ซึ่งเป็นการยืนยันทางเทคนิคอย่างชัดเจนว่า นายชิบลีย์ฯและผู้ที่อยู่ในบ้านในประเทศสวีเดน เป็นผู้จัดทำเว็บไซต์พูโล และถือเป็นหลักฐานสำคัญที่สามารถใช้ในการดำเนินคดีตามกฎหมายได้

9.2 การที่สามารถยืนยันหลักฐานทางเทคนิคได้ว่า ในการเข้าอินเทอร์เน็ต นายชิบลีย์ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มี IP Address หมายเลขเดียวกันกับ ผู้นำข้อความจากเว็บไซต์พูโลและเว็บไซต์หมิ่นสถาบันไปเผยแพร่ตามกระดานข่าวในเว็บไซต์ต่าง ๆ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีแนวความคิดต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จึงเป็นการพิสูจน์ได้ว่านายชิบลีย์ฯ เป็นผู้จัดทำเว็บไซต์ manusaya.com โดยนายอับดุลรอสะ เจะเง๊าะ เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังหรือรู้เห็นด้วย

9.3 จากการที่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ขอความร่วมมือไปยัง ISP ต่างๆให้ช่วยปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดมานั้น แต่ด้วยเทคนิคทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ที่รู้เทคนิคยังคงสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวได้ จนในที่สุดเมื่อ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ทำการประสานงานกับบริษัท Netfirms จนทางบริษัทฯเข้าใจเหตุผลและความจำเป็น จึงได้ให้ความร่วมมือยุติการให้บริการแก่เว็บไซต์ดังกล่าว จึงทำให้เว็บไซต์ทั้งสองหยุดการเผยแพร่ตลอดไปตั้งแต่ มิ.ย.2548 อย่างไรก็ดีเว็บไซต์พูโลได้เริ่มเผยแพร่ใหม่แล้วตั้งแต่ ก.พ.2549 ในชื่อ pulo??.. ?. (ขอสงวนชื่อไว้)


สรุป

- เว็บไซต์ www.pulo.org และ www.manusaya.com ได้ใช้บริการเครื่อง Server และเครือข่ายของบริษัท Netfirms ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศแคนนาดา โดยผู้จัดทำได้ใช้ IP address หมายเลข 213.66.141.229 ซึ่งจากการตรวจสอบทางเทคนิคยืนยันได้ว่า ใช้จากบ้านที่ Vikinga.... เมืองลุนด์ ประเทศสวีเดน และจากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ผู้เกี่ยวข้องที่ได้กระทำผิดในเบื้องต้นคือ นายชิบลีย์ ปูตรา เจะเง๊าะ (Shiblee Putra Jehngoh) และ นายอับดุลรอสะ เจะเง๊าะ (Abdulrosa Basil Jehngoh)

- จากการสืบสวนสอบสวนตลอดมานั้น ยังไม่เคยมีหลักฐานสิ่งใดบ่งชี้ว่า เว็บไซต์ทั้งสองนั้น เคยใช้ Server ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย แต่อย่างใด และยังไม่เคยมีหลักฐานสิ่งใดบ่งชี้ว่า มีคนไทยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว แต่อย่างใด (เพราะในข้อเท็จจริงนั้น การทำเว็บไซต์ดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย คือประมาณเดือนละ 200 บาทเท่านั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องรับการสนับสนุนด้านการเงินจากผู้ใด)

- ในด้านการดำเนินคดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ให้กรณีกล่าวเป็นคดีพิเศษ ที่ 31/2547 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ซึ่ง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกันทำการสืบสวนสอบสวน แสวงหาหลักฐานต่างๆ ตลอดมา จนสามารถขออนุมัติต่อศาลอาญา เพื่อออกหมายจับ นายชิบลีย์ ปูตรา เจะเง๊าะ และ นายอับดุลรอสะ เจะเง๊าะ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามหมายจับศาลอาญาที่ 3758/2548 ลง วันที่ 30 กันยายน 2548 และหมายจับศาลอาญาที่ 235/2549 ลง วันที่ 17 มกราคม 2549 ตามลำดับ

- ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ ต่อไป

- เว็บไซต์ pulo.org และ manusaya.com ได้แบ่งหน้าที่กันเผยแพร่ข่าวสารโดย เว็บไซต์ pulo.org จะทำหน้าที่บิดเบือนข่าวสาร ยุยงให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาวไทยมุสลิมกับชาวไทยพุทธ มุ่งหวังที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ส่วนเว็บไซต์ manusaya.com จะทำหน้าที่จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง เพื่อลดความศรัทธาต่อสถาบัน เพราะชาวไทยในเขต 3 จังหวัดภาคใต้นั้น ส่วนใหญ่ยังคงให้ความเคารพศรัทธาต่อสถาบันเบื้องสูงอย่างเหนียวแน่น

- การที่เว็บไซต์ทั้งสอง ได้แบ่งหน้าที่กันเผยแพร่ และได้พยายามปกปิดสถานะที่แท้จริง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่อาจทราบได้ว่า กลุ่มผู้จัดทำเว็บไซต์ manusaya.com ซึ่งกล่าวโจมตี จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงนั้น ที่แท้จริงคือกลุ่มเดียวกับ กลุ่มผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนพูโล

- บางครั้งกลุ่มพูโลได้ใช้กระดานข่าวในเว็บไซต์ชั้นนำต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการโจมตีรัฐบาล บิดเบือน แต่งเรื่องสร้างข่าว โดยการทำเป็นชาวไทยพุทธด่าว่าไทยมุสลิม และทำเป็นชาวไทยมุสลิมด่าว่าชาวไทยพุทธ เพื่อสร้างความแตกแยก ทั้ง ๆ ที่เป็นชาวไทยด้วยกัน

- ปัจจุบันกลุ่มพูโลได้อาศัยเหตุการณ์ทางการเมืองพยายามบิดเบือนสร้างกระแส โดยได้ทำการเผยแพร่ข่าวสารทางเว็บไซต์ กระดานข่าวและอีเมล์ โยนความผิดและกล่าวหาว่าเว็บไซต์ manusaya.com จัดทำโดยคนในรัฐบาล โดยมีที่ตั้ง Server ของเว็บไซต์อยู่ในทำเนียบรัฐบาล และได้รับการสนับสนุนการเงินจากคนในรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวมุ่งหวังให้เกิดความแตกแยกขึ้นในระหว่างประชาชนกับรัฐบาล อันจะเป็นประโยชน์ต่องานของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโดยตรง รายละเอียดปรากฏตามพยานหลักฐานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

จึงขอกราบเรียนให้ พี่น้องประชาชนชาวไทย ได้ทราบในข้อเท็จจริง เพื่อโปรดใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารต่อไป

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน
ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม


ภาพที่ผู้ไม่หวังดีกล่าวหาทางรัฐบาล จนเป็นเหตุทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจผิด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์