ชี้ศาลรธน.ไม่พึงรับเรื่องเพิกถอนเลือกตั้งจากผู้ตรวจการแผ่นดิน

ชี้ศาลรธน.ไม่พึงรับเรื่องเพิกถอนเลือกตั้งจากผู้ตรวจการแผ่นดิน



นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ได้แสดงความเห็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพิกถอนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Pornson Liengboonlertchai มีเนื้อหาดังนี้ 

ยังมิพักต้องไปพิจารณาประเด็นในเชิงเทคนิคอื่นๆ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้อ้างอิง ม.๒๔๕ (๑) เป็นฐานอำนาจในการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพิกถอนการเลือกตั้งวันที่ ๒ ก.พ. ที่ผ่านมาเพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นอาจมีความเข้าใจผิด 

กล่าวคือ ม.๒๔๕ (๑) บัญญัติประเด็นที่จะถือได้ว่าอยู่ในอำนาจ (Competence) ของผู้ตรวจการแผ่นดินในการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ ซึ่งมีในกรณีเดียวได้แก่ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ามี "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ เป็นกรณีที่ "กฎหมายขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ" เท่านั้น 

กับกรณีปัจจุบันที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องการเลือกตั้งวันที่ ๒ ก.พ. ว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นมิได้เป็นกรณีปัญหาว่าด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายใดๆ ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีนี้จึงเป็นที่ชัดเจนว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการส่งเรื่องไปเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้

คำถามคือ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วจะทำอย่างไรต่อไป? 

คำตอบก็คือ เมื่อเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญพึงปฏิเสธไม่รับคำร้อง ทั้งนี้เนื่องจากเป็นคดีที่ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลครับ 

____________________________

มาตรา ๒๔๕ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

(๑) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า 

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์