ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ใครจะตายในสนามประชาธิปไตย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า
เคยพูดไปแล้ว ไม่คิดว่านายกฯจะตายในสนามประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำมาสองปี ประชาธิปไตยจะตายในมือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะละเมิดสิทธิ์ ขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตย คิดว่าที่กำหนดจุดยืนเช่นนี้ เพราะว่า นายกฯไม่ประสงค์ที่จะหาทางออกประเทศในขณะนี้ และพร้อมรักษาอำนาจ โดยท้าทายว่าใครที่ไม่เห็นด้วยกับการครองอำนาจของตนเอง ก็ต้องสู้กับรัฐบาลไปทุกรูปแบบ จึงเกิดประเด็นปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ปลุกระดมปลุกปั่นให้คนไม่พอใจศาล และองค์กรอิสระ หากทำเช่านี้ไปเรื่อยๆ ย้ำว่า ประชาธิปไตยจะตายในมือยิ่งลักษณ์
ส่วนกรณีส.ส.พรรคเพื่อไทย พยายามเปิดสภาโดยที่ยังไม่ได้มีการประกาศรับรองการเป็นส.ส.จากกกต.นั้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบจะเปิดอะไร ทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะแสดงออกอย่างไรก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ความเหมาะสมก็อีกแบบหนึ่ง ส่วนการที่นายนิคม ไวยรัชพานิช รักษาการประธานรัฐสภาประกาศให้รัฐสภาเป็นที่ประชุมจะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ก็คงไม่สามารถไปประชุมผูกพันอย่างเป็นทางการได้ ถ้าทำก็เข้าข่ายความผิด 1. ไปดูกฏหมายรัฐธรรมนูญ จะเป็น ส.ส.ได้กกต.ต้องรับรอง 2. จะประชุมสภาได้ ต้องมีส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ซึ่งขณะนี้ไม่เข้าเงื่อนไขสักอย่าง รู้ดีอยู่แล้วว่าสิ่งที่ออกมาพูดทำไม่ได้ แต่แค่ต้องการกระทำการเชิงสัญลักษณ์ และยืนยันว่าจะต่อสู้ตามแนวทางที่นายกฯกำหนด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย จะเชิญตัวแทนทุกพรรค และกลุ่มนักวิชาการทุกฝ่ายมาพูดคุย
แต่เน้นการพูดคุยระบบกระบวนการยุติธรรมนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวทีปฎิรูป ต้องเป็นเวทีที่มีความน่าเชื่อถือ มิเช่นนั้นจะเดินไม่ได้ ที่ผ่านมาก็ชัดเจนแล้วว่า ฝ่ายรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ ส่วนต่างชาติขณะนี้ก็มองด้วยความเข้าใจ มากขึ้นเพราะว่าไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ และอดีตเลขายูเอ็น ก็เริ่มออกมาพูดให้เห็นแล้วว่า การไปอ้างการเลือกตั้งว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของประชาธิปไตยมันไม่ใช่ รวมถึงเมื่อเห็นจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น เขาจึงเปลี่ยนท่าที โดยการมาเรียกร้องว่า รัฐบาลมีหน้าที่ใช้กฎหมาย และเอาคนที่ใช้ความรุนแรงมาลงโทษให้ได้
"ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน ยิ่งไปตอกย้ำคำพิพากษาศาลแพ่งก่อนหน้านี้ว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรจะทำเพื่อแก้สถานการณ์ ไม่ใช่เพื่อการสกัดกั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"
ส่วนกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาเรียกร้องให้ทหารรื้อบังเกอร์ออกนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าความปลอดภัยของประชาชนสำคัญ
ถ้านายกฯจะบอกว่า จะไปกระทบภาพลักษณ์คงไม่ใช่ เพราะภาพลักษณ์ประเทศ ถูกกระทบด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินมากกว่า เพราะว่านักท่องเที่ยวที่หายไป เขาหายไปก่อนมีบังเกอร์อีก อย่างไรก็ตาม หากบังเกอร์ที่รื้อไป จะกระทบความปลอยภัยของประชาชนหรือไม่นั้นต้องถามกองทัพว่า มีการศึกษาและกำหนดแนวทางไว้ดีแล้ว ซึ่งพอกองทัพออกมามีบทบาทในการปกป้องความมั่นคง ดูเหมือนรัฐบาลมาเปิดศึกเพิ่มกับกองทัพอีก นี่คือปัญหาว่า นายกฯพยายามแก้ปัญหา หรือกำลังซ้ำเติมปัญหา ศาล องค์กรอิสระ พยายามทำหน้าที่ให้คนเคารพกฏหมาย รัฐบาลก็ไปส่งเสริมให้คนมาปฎิปักษ์กับเขา ประชาชนอีกฝ่ายมาเรียกร้อง ก็มีการยุยงให้แตกแยกแบ่งแยก ทหารเขาพยายามทำหน้าที่รักษาความมั่นคง ก็พยายามไปสร้างความเข้าใจว่าเขาเลือกปฎิบัติ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาทั้งสิ้น
เมื่อถามว่า ขณะนี้ ประเทศเข้าสู่สภาวะล้มเหลวโดยสิ้นเชิงหรือไม่ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า น่าห่วง และไม่เข้าใจว่านายกฯไม่คิดว่า หนทางที่ดีกว่าที่กำลังทำยังมีอยู่ นายกฯต้องเปิดทางให้มีการพิจารณาข้อเรียกร้องของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอย่างจริงจัง ถ้าไม่ทำ ความเสียหายจะต่อเนื่อง มองว่า ถ้ารอการตัดสินคดีต่างๆ คงเป็นเดือน และก็ไม่ได้แปลว่าจะจบ เพราะต้องมานั่งตีความอีกว่า ก้าวต่อไปของข้อกฏหมายคืออะไร ทางออกที่ดีที่สุดต้องช่วยกันหาทางออกในลักษณะที่เป็นการหาคำตอบทางการเมือง ซึ่งต้องเกิดขึ้นจากการระดมความคิดจากทุกฝ่าย และจะเริ่มต้นได้ นายกฯต้องเลิกเงื่อนไขที่มาตั้งเอาไว้คือ ผู้ชุมนุมต้องกลับบ้านก่อน หรือ ต้องเลือกตั้งให้เสร็จก่อน
"ถ้าทุกฝ่ายจริงใจไม่ยึดเอาประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง การใช้กระบวนการทางการเมืองหาคำตอบ จะมีความราบรื่นกว่า บวกกับการสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง หรือการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ ผมไม่ให้ความสำคัญกับคนกลางเท่าไหร่ แต่คิดว่าคนที่เกี่ยวข้องต้องแสดงท่าทีจริงใจในการที่จะหาคำตอบ มีไม่มีคนกลางไม่ใช่เรื่องหลักอยู่แล้ว"
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.ออกมาระบุว่า ทุกอย่างจะจบภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลแต่ละฝ่ายอาจไม่เท่ากัน แต่ตนคิดว่า ไม่ง่ายจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เพราะรัฐบาลก็ยุยงให้เกิดกำลังอีกฝ่ายมาต่อต้าน และขณะเดียวกันคดีความต่างๆ ก็ต้องใช้เวลาตามกระบวนการ ทุกอย่างต้องปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ทุกอย่างจะง่ายขึ้น ถ้าทุกฝ่ายให้กระบวนการทางการเมือง มาหาคำตอบปัญหาทางการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญ นายกฯจะคุยกันก่อนลาออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรีก่อนก็ได้ ถ้ากังวลว่า ออกแล้วจะมีปัญหา ก็มาคุยกันให้ชัดว่า ออกแล้ว บ้านเมืองจะเดินอย่างไรให้ทุกฝ่ายสบายใจ ก็มีสิทธิคุยกันได้ด้วยเงื่อนไขผลประโยชน์ของบ้านเมือง
"ถ้ายังอยู่บนการต่อรองเช่นนี้ เศรษฐกิจชัดเจนอยู่แล้ว เพราะหยุดชะงัก จะไปกระทบงบประมาณปี 2558 อีกส่วน ความไม่แน่นอนก็ทำลายความเชื่อมั่น แต่ว่าการเมือง ก็เป็นปัญหาว่าความไว้วางใจทางกระบวนการทางการเมืองก็ลดลง ความศรัทธาเสื่อม ที่น่ากลัวที่สุดคือความแตกแยกจะลุกลาม มองว่า เป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะถูกลดระดับความน่าเชื่อถือภายใต้มือของน.ส.ยิ่งลักษณ์"