
มี “คำถาม”ขึ้นมาทันทีหลังรัฐบาลรักษาการที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
มี “คำถาม”ขึ้นมาทันทีหลังรัฐบาลรักษาการที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.เป็นต้นไปกินระยะเวลา 60 วันไปจนถึงเดือนมีนาคมนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่กำลัง “เขม็งเกลียว”ขึ้นทุกขณะได้หรือไม่
ส่วนใหญ่เชื่อว่า “ไม่ได้” เพราะการประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นความต้องการแก้ปัญหาในช่วงเวลาปัจจุบันซึ่งเป็น “ปลายเหตุ”ของปัญหา
ขณะที่ “ต้นเหตุ”ของปัญหาที่เริ่มต้นจากการชุมนุมคัดค้านการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม “สุดซอย-เหมาเข่ง”เมื่อเวลา “ตีสี่” ของวันที่ 1 พ.ย.2556 ที่ผ่านมา จากนั้นพัฒนากลายเป็นการถามหาความรับผิดชอบจากรัฐบาล ลุกลามไปเป็น การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้งและมาจบลงที่การขับไล่รัฐบาลเพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปประเทศโดยประชาชน
“คำถามแรก” คือ รัฐบาลรักษาการมีอำนาจในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้หรือไม่ มีเหตุที่จำเป็นต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ แม้รัฐบาลรักษาการจะระบุว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อย แต่ก็มีคำถามว่านี่อาจจะเป็น “ข้ออ้าง” ขณะที่ความมุ่งหมายจริง ๆ รัฐบาลรักษาการอาจจะมีเจตนาแฝงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง
เมื่อมี “คำถาม” เช่นนี้จึงไม่แปลกที่กลุ่ม 40 ส.ว.ที่นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา จะประกาศยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เพราะมองว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (4) ว่าด้วยการไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบของกกต. กำหนด
ไม่น่าจะเคยมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่มีการจัดการเลือกตั้งมาก่อน ซึ่งหากถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 2 ก.พ.หากไม่เลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งของประเทศไทย
ใช่แค่นั้นสื่อมวลชน 4 สถาบัน ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการ
“ทบทวน”การประกาศใช้ดังกล่าวเพราะมองว่าไม่มีเหตุอันควรและเป็นการ “ลิดรอนสิทธิ”ของประชาชนและสื่อมวลชน
“คำถาม”ต่อมา การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลรักษาการในครั้งนี้ มีจุดประสงค์แค่รักษาความสงบเรียบร้อยหรือมีเจตนาอื่นทางการเมืองหรือไม่
อย่าลืมว่าผู้มีอำนาจในการสั่งการตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีหมวกอีกใบสวมอยู่นั่นคือการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะผอ.ศรส. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า รัฐบาลมุ่งหมายที่จะทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.เกิดขึ้นให้จงได้ ท่ามกลางสารพัดปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งกกต.ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมดูแลจัดการเลือกตั้งสะท้อนออกมาให้เห็นแล้วก่อนหน้านี้
หากต้องการควบคุมดูแลรักษาความสงบ กฎหมายในปัจจุบันก็ยังสามารถบังคับใช้ได้อยู่ ที่สำคัญการอ้างว่าเกิดสถานการณ์การ “ระเบิด”
ในช่วงการปฏิบัติการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ของ กปปส.นั้น รัฐบาลควรจะเร่ง “จับกุม”ผู้กระทำผิดมาลงโทษและหามาตรการป้องกันแทนที่จะใช้เหตุการณ์ที่ว่ามาเป็นเหตุผลในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่น่าคิดก็คือว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เป็นการ “สนธิกำลัง”ระหว่างตำรวจกับทหาร แต่ภาพที่ปรากฏออกมาดูเหมือนว่า ทหารจะไม่เห็นด้วยกับการประกาศดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามที่จะประกาศใช้มาแล้วแต่ถูกทหารให้เหตุผล “คัดค้าน”ไว้
ที่ต้องคิดกันให้ไกลคือ ทำไมต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินกินระยะเวลาถึง 60 วัน ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงหลังวันเลือกตั้งหรือรัฐบาลรักษาการประเมินสถานการณ์ไปแล้วว่า ในการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.ที่จะถึงนี้ จะมีความวุ่นวายทางการเมืองและอาจที่จะพัฒนาไปถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.
ต้องยอมรับประการหนึ่งว่าในทาง “ยุทธศาสตร์”แล้วการประกาศ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ของ กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการ กปปส. ประสบความสำเร็จมากขึ้นตามลำดับ แม้ข้าราชการระดับสูงบางหน่วยงานจะเข้าร่วมและแสดงออกซึ่งการสนับสนุนการชุมนุมของกปปส.ก็ตาม แต่หากดูกลไกข้าราชการะดับล่างหรือระดับปฏิบัติการจะพบว่า ให้ทั้งข้อมูลให้ทั้งความร่วมมือการ “อารยะขัดขืน”กับกปปส.อย่างมาก
ยิ่งการที่คณบดีคณะแพทยศาสตร์จาก 8 สถาบัน ซึ่งประกอบด้วย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล,คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล,คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ “ลาออก” จากการรักษาการ สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคน “ชั้นนำ” ในสังคมเริ่มสนับสนุนกปปส.มากขึ้น
ไม่ใช่แค่นั้น “ชนชั้นรากหญ้า”ซึ่งไม่พอใจกับการไม่ยอมจ่ายเงินในโครงการ “รับจำนำข้าว” ก็กำลังจะเป็นอีกกลุ่มที่กลายเป็น “แนวร่วม”ต่อต้านรัฐบาลรักษาการไปโดยปริยาย
เหล่านี้จึงน่าจะเป็น “เหตุผล” ที่รัฐบาลรักษาการตัดสินใจเล่น “เกมเสี่ยง” ด้วยการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสกัดกั้นการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม “ไม่เอาด้วย ”กับรัฐบาลรักษาการ
ถือเป็นการ “ทิ้งไพ่” ที่เหลืออยู่บนหน้าตักของรัฐบาลรักษาการ ที่ขณะนี้มีเหลืออยู่ไม่กี่ใบเท่านั้น
“คำถาม” ที่สำคัญ หากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ แถมยังทำให้สถานการณ์ “บานปลาย” เกินกว่าจะควบคุมได้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ.
Love illusion ความรักลวงตา เพลงที่เข้ากับสังคมonline
Love illusion Version 2คนฟังเยอะ จนต้องมี Version2กันทีเดียว
Smiling to your birthday เพลงเพราะๆ ไว้ส่งอวยพรวันเกิด หรือร้องแทน happybirthday