พรรคการเมือง..ติดล็อกคมช.

ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนๆ


ม็อบการเมืองดาหน้าออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศกำหนดวันเลือกตั้งให้ได้รับรู้กันไปทั่วโลกว่า

ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในวันที่ 16 หรือ 23 ธันวาคม ปลายปีนี้แน่นอน


แม้ พล.อ.สุรยุทธ์ไม่มีอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งด้วยตัวเอง


แต่การออกมาประกาศของ พล.อ.สุรยุทธ์ในครั้งนี้ ได้มีการปรึกษาหารือระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

โดยทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกัน ถึงช่วงเวลาที่คาดการณ์ ว่าจะมีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชน

วางแปลนวางเป้ากันไว้ว่าน่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม หรืออย่างช้าก็ถัดออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ คือ วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550

พูดง่ายๆ เป็นการกำหนดเป้าหมาย กำหนดปฏิทินการเลือกตั้งให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

จากเดิมที่มีเพียงคำประกาศกว้างๆของ คมช.และรัฐบาลว่าจะคืนอำนาจประชาธิปไตยให้ประชาชนภายใน 1 ปี

และแน่นอนว่า การเดินไปสู่การเลือกตั้งต้องเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่เป็นตัวกำหนดกระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะเป็นกติกาในการเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม การที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ออกมาประกาศกำหนด การเลือกตั้งว่าจะมีขึ้นในวันที่ 16 หรือ 23 ธันวาคม


ทำให้มองได้ว่า เป็นเพียงการทำให้เกิดความผ่อนคลายทางการเมือง


และเป็นการตอกย้ำให้สังคมมั่นใจว่า จะมีการเลือกตั้งคืนอำนาจประชาธิปไตยให้ประชาชนภายในปีนี้แน่นอน

ซึ่งจะเป็นการลดทอนแรงต้านของผู้คนในสังคม ที่เริ่มรู้สึกอึดอัดกับการบริหารงานของรัฐบาล

ไม่ให้เข้าไปสมทบกับบรรดาม็อบการเมืองที่กำลังเคลื่อน ไหวต่อต้าน คมช.และรัฐบาลอยู่ในขณะนี้

นี่คือ ประเด็นหลักในการประกาศวันเลือกตั้ง ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังร่างไม่เสร็จ

"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ขอบอกว่า การที่ พล.อ.สุรยุทธ์ รวมทั้งฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และประธานคณะกรรม-การการเลือกตั้งออกมาประสานเสียงว่า

พร้อมจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 16 หรือ 23 ธันวาคม 2550

ตอกย้ำคำสัญญา คืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปี

แน่นอน ทีมของเราก็อยากให้เป็นเช่นนั้น

เพราะถ้ามีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย การเมืองกลับเข้าสู่ระบบปกติ ย่อมเป็นผลดีกับประเทศ


แต่อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริง

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน


การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบหลายประการ

อันดับแรกเลย ก็คือ กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ซึ่งก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม ่ต้องเดินไปตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติไว้ ้โดยมีกรอบเวลากำหนดไว้ชัดเจน

ต้องยกร่างให้เสร็จภายใน 180 วัน

นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก ซึ่งจะครบกำหนดเส้นตายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2550

โดยในขณะนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน ที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน กำลังประชุมอย่างคร่ำเคร่งอยู่ที่บางแสน จังหวัดชลบุรี

เพื่อสรุปภาพรวมของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรายมาตรา

ที่สำคัญ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้มีการกำหนดปฏิทินเวลาในการยกร่างฯเอาไว้แล้วว่า


วันที่ 19 เมษายน จะยกร่างแรกเสร็จ


พร้อมส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

จากนั้นจะนำร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกนี้ไปรับฟังความเห็นของประชาชน และส่งไปยังองค์กรต่างๆ เพื่อพิจารณาและเสนอความเห็น

27 เมษายน-26 พฤษภาคม เปิดให้สภาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแปรญัตติ

27 พฤษภาคม-9 มิถุนายน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาประเด็นและความเห็นต่างๆ พร้อมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

10 มิถุนายน-6 กรกฎาคม ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วให้ สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ประชุมร่วมกับสภาร่างรัฐธรรมนูญในการแปรญัตติ

และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะจัดพิมพ์ร่างเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

จากนั้น ในวันที่ 19 หรือ 26 สิงหาคม จะสามารถจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้

นี่คือ ตารางเวลาในการทำคลอดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ หากกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเดินไปตามปฏิทินเวลาดังกล่าว การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะต้องมีขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม


ซึ่งยังไม่มีใครชี้ชัดได้ว่า

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี


ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านเสียงประชามติจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่

แต่ถ้าสมมติว่าผ่าน ก็จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงเดือนกันยายน

ขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งอีกอย่างน้อย 3 ฉบับ คือ

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการสรรหา ส.ว.

โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินการยกร่างและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา

ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

ทั้งนี้ เมื่อนำปฏิทินเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผล บังคับใช้ในเดือนกันยายน ไปเทียบเคียงกับการที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 16 หรือ 23 ธันวาคม

ก็เท่ากับมีเวลา 3 เดือนกว่าเท่านั้นที่จะให้พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมความพร้อมในการลงสนามเลือกตั้ง

ตรงนี้แหละที่จะเป็นปัญหา


เพราะในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค


พรรคการเมืองจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา พรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญที่จะให้เกิดฝ่ายนิติ-บัญญัติและฝ่ายบริหาร

เปรียบเสมือนโรงงานผลิตบุคลากรทางการเมือง ที่จะเข้ามาเป็น ส.ส.และรัฐมนตรี

รวมไปถึงการจัดทำนโยบายที่จะใช้ในการบริหารประเทศ หากได้รับเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้น พรรคการเมืองจำเป็นที่จะต้องมีเวลาในการจัดทำนโยบายพรรค และเสนอนโยบายให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้ง

ถ้าไม่มีเวลาให้พรรคการเมืองสร้างความพร้อม

ก็เท่ากับเป็นการตัดโอกาสของประชาชน

ที่สำคัญในสถานการณ์ขณะนี้ พรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ ทั้งพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ กำลังลุ้นระทึกกับคดียุบพรรค

ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย

งานนี้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่มีความผิดถึงขั้นยุบพรรคก็ดีไป


แต่ในทางกลับกัน ถ้าพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือทั้งสองพรรคโดนยุบ

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ


อดีต ส.ส.ในสังกัดก็ต้องหาทางขยับขยาย โดยอาจจะรวมตัวกันไปจัดตั้งพรรคใหม่ หรือย้ายไปเข้าสังกัดพรรคอื่น

ขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ หลังจาก พล.อ.สุรยุทธ์ ออกมาประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 16 หรือ 23 ธันวาคม

บรรดาอดีต ส.ส.และนักการเมืองส่วนใหญ่จึงออกมาโวยว่า มีเวลาในการเตรียมการเลือกตั้งน้อยเกินไป

เพราะในทางปฏิบัติ พรรคการเมืองจะต้องลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อกำหนดนโยบาย จัดรณรงค์หาเสียง ยังไม่รวมถึงกรณีที่อาจต้องไปแจ้งจดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่

ดาหน้าเรียกร้องให้ คมช.ยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 และ 27 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

ขอเวลาเตรียมตัว เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทีมของเราขอบอกว่า การ เลือกตั้งที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นความหวังของสังคมในการแก้วิกฤติของประเทศ


ดังนั้น คมช.ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสร้างความพร้อมในการเลือกตั้ง


ถึงจะนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านไปได้

ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติขึ้นมาอีก

และประเด็นความไม่พร้อมนี่แหละ


จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปหลังสิ้นปี.



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์