อจ.จุฬาฯ วิพากษ์ธีรยุทธ บุญมี ย้ำเพื่อหลักวิชา ไม่ใช่เพื่อพรรคการเมืองไหน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง อจ.จุฬาฯ วิพากษ์ธีรยุทธ บุญมี ย้ำเพื่อหลักวิชา ไม่ใช่เพื่อพรรคการเมืองไหน
นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก วิพากษ์วิจารณ์การแถลงข่าวของนายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้
ผมอ่านคอมเม้นต์ของ "อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี" ด้วยความเคารพนะครับขออนุญาตเห็นต่างและต้องย้ำด้วยว่าสิ่งที่จะวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปนี้อยู่บนหลักวิชา ผมดีเฟนด์เพื่อหลักวิชาที่ถูกต้อง ไม่ใช่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
1. ผมพูดมาอยู่หลายครั้งแล้วว่าการวิพากษ์การเมืองปัจจุบันผ่านรัฐบาลเพื่อไทย โดยบอกว่าเป็นการเมืองที่ยึดถือหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภานั้นเป็นการวิพากษ์ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เป็นการวิพากษ์โดยมองข้ามระบอบรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ด้วยระบอบรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 40 ) เรามิได้ยึดถือหลักอำนาจสูงสุดเป็นของรัฐสภา (Supremacy of Parliament) แต่เรายึดถือหลักอำนาจสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (Supremacy of Constitution) ทั้งนี้เนื่องจากเรามีการวางกลไกขององค์กรตุลาการเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Judicial Review) ในการตรากฎหมายต่างๆ เป็นต้น มิได้ปล่อยให้รัฐสภาใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์ธีรยุทธพูดมาจึงคลาดเคลื่อนจากหลักวิชาอย่างมาก เป็นการพูดในเชิงรูปแบบ มิใช่ในเชิงเนื้อหา
2. การที่อาจารย์กล่าวถึงการเรียกร้องให้คนที่เรียกร้องให้เคารพสิทธิของคนอื่นให้หันมาเคารพในสิทธิของตนเอง เพราะมีการไปเลือกพรรคการเมือง (พรรคเพื่อไทย) ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์อาจเข้าใจคำว่า "สิทธิ" ตามหลักวิชาอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน เนื่องจาก "สิทธิ" จะมีลักษณะก่อให้เกิด "หน้าที่" ต่อบุคคลอื่นที่จะไม่ให้ใครเข้ามาแทรกแซงหรือขัดขวางการใช้สิทธิของตนเอง การตั้งคำถามของอาจารย์นั้นมีลักษณะเป็นการผิดฝาผิดตัว
3. อาจารย์ประดิษฐ์ถ้อยคำอย่าง "สันติภิวัฒน์" ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์เห็นว่าการชุมนุมครั้งนี้มีลักษณะของการชุมนุมที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะมีความสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ซึ่งในความเห็นตามหลักวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญผมเห็นว่าไม่ใช่ กล่าวคือ ไม่้ได้เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ เพราะจะเห็นได้ว่ามีการบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆ บังคับขู่เข็ญล่วงละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่นๆ ละเมิดต่อตัวบทกฎหมาย ผมจึงไม่เห็นพ้องด้วยว่าจะสามารถใช้คำว่า "สันติภิวัฒน์" ได้
(ด้วยความเคารพนะครับ อาจารย์เคยประดิษฐ์ถ้อยคำอย่าง "ตุลาการภิวัฒน์" โดยแปลมาจากคำว่า "Judicial Review" ซึ่งเป็นการผิดพลาดจากหลักวิชาการอย่างมาก)
4. อาจารย์วิเคราะห์ว่ามวลมหาประชาชนอาจแพ้ในการเรียกร้องในครั้งนี้ เพราะมีชนชั้นนำไม่กล้าที่จะปฏิรูป ผมขออนุญาตไม่เห็นด้วยนะครับ อาจเป็นการวิเคราะห์ที่ผิวเผินเกินไป คำถามในทางวิชาการคือ การแพ้ชนะครั้งนี้ หากคุณมองว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจริง มวลมหาประชาชนเป็นคนหมู่มากของประเทศจริง ปัจจัยที่จะส่งผลต่อความพ่ายแพ้ก็คือ คุณมิได้เรียกร้องเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศใช่หรือไม่ มวลมหาประชาชนมิใช่คนหมู่มากของประเทศจริงใช่หรือไม่ ตรงนี้ผมว่ามันคือประเด็นเรื่องของความยอมรับนับถือ ความเห็นพ้องด้วยกับการเรียกร้องมากน้อยครั้งนี้ของ กปปส มากกว่า ซึ่งสิ่งที่จะวัดความเห็นเห็นพ้องมากน้อยได้ก็คือ การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.
5. อาจารย์และนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง (รวมถึงคนที่สนับสนุนการชุมนุมกลุ่ม กปปส) พูดถึงปัญหาการคอรัปชั่นอยู่เสมอ ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นปัญหาจริง ต้องต่อต้านแก้ไข แต่สิ่งที่อาจารย์ไม่พูดเลยก็คือ กระบวนการในการเข้าไปจัดการกับมัน เรื่องนี้มีความสำคัญมากในเชิงหลักวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักนิติรัฐนิติธรรม กล่าวคือ กระบวนการที่จะเข้าไปจัดการกับการคอรัปชั่นมันต้องขอบด้วยกฎหมายด้วย ทั้งนี้เพราะหลักการนี้มุ่งเน้นที่จะเข้าไปรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนอันส่งผลต่อสังคมในองค์รวม แต่วิธีการ หรือกระบวนการที่อาจารย์สนับสนุนให้เข้าไปจัดการกับปัญหามันละเมิดต่อหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่อยู่ในครรลองของระบอบรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ประเทศชาติไม่มีขื่อมีแป แล้วสังคมจะอยู่อย่างไร แล้วใครจะมาพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน นี่คือการกระทำที่เรียกว่า "รัฐตำรวจ" (Police State) หรือ "หลักนิติรัฐนิติธรรมจอมปลอม"
The end cannot justify the means