เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่า แรงยั่วยุตอนนี้เพราะอยากให้ทหารออกมาปฏิวัติ นายกฯกล่าวว่า
วันนี้ต้องเรียนเหตุผลที่จะออกมาปฏิวัติคืออะไร เพราะว่าจริงๆ แล้ว ทุกคนก็รู้และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ก็ต้องช่วยกันในการประคับประคองสถานการณ์ต่างๆ ไม่ให้รุนแรง และประคับประคองในด้านที่เราจะทำอย่างไรให้เราหันหน้าเข้าหากัน ทั้งนี้ รัฐบาลก็พยายามทุกอย่างและยินดีที่จะให้มีการพูดคุยกัน โดยเฉพาะการเปิดเวทีสภาปฏิรูปที่เป็นเวทีของคนกลาง จึงอยากขอร้องว่า ในส่วนของเวทีกลางภาควิชาการ ภาคเอกชนหรือภาคประชาชนที่จะเริ่มในการเปิดเวทีกลาง เพื่อเป็นเวทีในการเชื่อมโยงความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.และกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นๆ ให้ตกผลึกในรูปแบบของสภาปฏิรูปโดยเร็วที่สุด ถ้าเราได้รูปแบบดังกล่าวรัฐบาลก็ยินดีสนับสนุนในสิ่งที่รัฐบาลให้ความร่วมมือได้
"สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เราอยากเห็น แต่ถ้าเราคุยในสิ่งที่เราต่างคนต่างเห็นขัดแย้งเห็นต่าง เรื่องการที่จะเกิดสภาปฏิรูปก็เป็นไปได้ยาก ดิฉันจึงอยากขอร้องขอเชิญชวนทุกคนหันหน้ามาคุยกันว่าทางออกของประเทศสู่การปฏิรูปนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะถือว่าเรื่องนี้ถือว่าเป็นทางออกที่ดีกว่า ที่ต่างคนต่างพูดแล้วไม่คุยกัน" นายกฯกล่าวว่า
เมื่อถามว่า จะเปิดเวทีได้เมื่อไร นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนตอลดเวลา แต่ถ้าเวทีที่รัฐบาลเปิดเอง ก็อาจจะถูกมองว่ารัฐบาลเข้ามาชี้นำ จึงขอร้องว่าใครก็ได้เปิดเวทีกลาง รัฐบาลก็พร้อมให้ความร่วมมือ
เมื่อถามว่า ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้น นายกฯ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ใครต้องรับผิดชอบ
นายกฯกล่าวว่า "จริงๆ ต้องเรียนว่า เราต้องร่วมกันที่จะประคับประคองสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง เราก็จะทำสุดความสามารถ แต่ก็ต้องเรียนว่า ต้องดูในรายละเอียดว่าความรุนแรงเป็นการกระทำจากขั้นตอนว่าเราเป็นฝ่ายรุกหรือไม่ ซึ่งบางครั้งความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นจากมือที่สาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเป็นห่วง"
เมื่อถามว่า นายกฯถอยจนสุดทุกก้าวแล้วหรือไม่
นายกฯกล่าวว่า ก็เรียนว่าวันนี้ถ้าตามขั้นตอนเรายุบสภาแล้ว ตนมีหน้าที่เพียงแค่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ถามว่าถ้าจะให้ตนถอยวันนี้ต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าได้ และทำอย่างไรให้ผู้ชุมนุมได้รับความพึงพอใจแล้วเดินหน้า
"วันนี้ไม่ใช่คำตอบที่จะมาถามที่ดิฉัน เราต้องคุยกันว่าเราจะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร และดิฉันพร้อมที่จะเป็นกลไกหนึ่งที่พร้อมให้ร่วมมือกับทุกฝ่าย วันนี้เห็นแก่ประเทศเถอะค่ะ วันนี้ประเทศไทยถ้าเรามีความกังวลหรือมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศ ดิฉันก็เป็นห่วงว่าเศรษฐกิจต่างๆ นักลงทุน ความเชื่อมั่นต่างๆ จะอยู่ตรงไหน ทั้งนี้ การที่เราจะก้าวเข้าไปสู่การปฏิรูปนั้น เราไม่สามารถแก้ได้ในวันเดียว เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องที่ช่วยแก้ปัญหา เราน่าจะไปสู่กลไกที่เป็นจริงได้เถอะค่ะ" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
เมื่อถามว่า นายกฯจะอยู่บัญชาการสถานการณ์ในวันที่ 13 ม.ค.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ตอบคำถามและได้ขึ้นรถตู้มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 11.00 น. นายกฯได้ประชุมหารือเกี่ยวกับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ สตช. โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ ภูริสีศักดิ์ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.การท่องเที่ยวฯ ตัวแทนจากสมาคมโรงแรมไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานสภาอุตสาหกรรม ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เลขาธิการ สศช.
จากนั้น ในช่วงเวลา 13.00 น. นายกฯจะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการด้านกฎหมายร่วมกับนายชัยเกษม นิติศิริ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.ยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการ สสก. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ )
และจากนั้น เวลา 14.00 น. นายกฯจะเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการประชาชน