รธน.ฉบับ ตุลาการภิวัตน์ ระวัง ตุลาการวิบัติ!

รธน.ฉบับตุลาการภิวัตน์" ระวัง "ตุลาการวิบัติ"!


"ผู้พิพากษาเข้ามาช่วยเหลืองานในแต่ละองค์กรเป็นการชั่วคราว ถือเป็นการช่วยเหลือบ้านเมือง เมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็จะกลับไปทำหน้าที่ตามเดิม ไม่คิดว่าผู้พิพากษาที่ออกมาช่วยเหลือบ้านเมืองจะทำให้เกิดวิกฤติตุลาการขึ้น เพราะทุกคนต่างทำถูกต้องตามหลักของกฎหมาย ซึ่งสามารถทำได้"

ความเห็นของ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ อดีตประธานศาลฎีกา ที่พูดถึงบทบาทของผู้พิพากษาต่อการเข้ามารับบทหนักในการกำหนดทิศทางของบ้านเมืองมากกว่ายุคไหนๆ ดูจะเป็นความเห็นที่เข้าใจต่อความวิตกกังวลของสังคมอย่างยิ่ง


นั่นเพราะ ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์ "ตุลาการภิวัตน์" นี่เอง


ที่ได้หมุนเหวี่ยงสังคมไทยให้ขับเคลื่อน ผ่านพ้นวิกฤติการณ์อันหนักหนาสาหัส มาได้อย่างทุลักทุเล

หลังจากนั้น เทรนด์นี้ก็ยังแรงดีไม่มีตก!!!

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ที่ 35 อรหันต์ในนามคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังโม่กันอยู่นั้น ได้วางหลักการ เนื้อหาผูกโยงอำนาจไว้กับ "สถาบันตุลาการ" มากมาย หลายต่อหลายจุด

ด้วยหวังจะให้ระบบตุลาการจะเป็นเสาหลักพิทักษ์บ้านเมืองในยามระส่ำระสาย สับสน เหมือนเช่นที่ผ่านมา

เมื่อผสมผสานกับความไม่ไว้วางใจสถาบันฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่สลับกันผงาดขึ้นมาสร้างวิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่า

รัฐธรรมนูญไทยฉบับล่าสุดนี้ จึงได้ถือโอกาสผ่าตัดแปลงร่างโครงสร้างอำนาจทางการเมืองเสียใหม่

ด้วยการสวิงอำนาจทั้งหลายแหล่ ไปไว้ในอุ้งมือ "ฝ่ายตุลาการ" มหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ตั้งแต่ในส่วนของ "ศาลยุติธรรม" ที่มีอำนาจในการสรรหาบุคคล เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ

เช่น สมาชิกวุฒิสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 2 คน


รวมทั้งเปิดประตูให้เข้าไป "ปฏิบัติหน้าที่แทน" คณะกรรมการการเลือกตั้ง


กรณีที่ "กกต." พ้นจากตำแหน่งพร้อมกันทั้งหมดด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ

ไม่นับ "ศาลเลือกตั้ง" ที่ กมธ.สายตุลาการผลักดันให้เกิดขึ้นจนสำเร็จ แล้วยึดอำนาจแจกใบเหลือง ใบแดงจาก "กกต."

เรียบร้อยโรงเรียนศาลไปอีกหนึ่งเรื่อง!

ไหนจะอำนาจที่ยึดมาจาก "ศาลรัฐธรรมนูญ"

อย่างการวินิจฉัยสมาชิกภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วินิจฉัยกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

และกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

แต่ที่ดูจะรวบอำนาจไปแบบเน้นๆ เนื้อๆ เหลือเฟือ ฟู่ฟ่า ก็เห็นจะเป็นบทบาท ภาระ หน้าที่ในตำแหน่ง "ประธานศาลฎีกา"

เพราะหลังจากที่แสดงบทบาทคลี่คลายวิกฤติการณ์ทางการเมือครั้งแล้วครั้งเล่า ปรากฏว่าเข้าตากรรมการ


บวกกับมีลูกหม้อของ "ศาลฎีกา" ที่ยกโขยงเข้าไปคุมการร่างรัฐธรรมนูญเอง


นำโดยรองประธาน กมธ.ยกร่างฯ "จรัญ ภักดีธนากุล" และหัวหอกคนสำคัญอย่าง "วิชา มหาคุณ"

"ประธานศาลฎีกา" เลยถูกจับให้เป็นพระเอกขี่ม้าขาว!!!

ที่เห็นชัดๆ คือ มาตรา 67 วรรคสอง ที่ว่า ให้ "ประมุขศาลฎีกา" ร่วมกับ "ประมุของค์กรอื่นๆ" ตามรัฐธรรมนูญอีก 10 องค์กร หาทางออกให้แก่ประเทศยามวิกฤต ิป้องกันการปฏิวัติรัฐประหาร

ให้อำนาจร่วมกับ "ประธานศาลรัฐธรรมนูญ" และ "ประธานศาลปกครองสูงสุด" แต่งตั้งสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และคณะผู้บริหารราชการแผ่นดิน

ถ้ามีทางออกที่ดีไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะถือเป็นทางออกหนึ่งที่จะหยิบมาใช้ได้ในภาวะวิกฤติ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ไม่มีบัญญัติทางออกไว้

"ชาญชัย" ให้เหตุผลสนับสนุนว่า...

"การที่ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาปรึกษาหารือกัน ก็ถือเป็นทางออกหนึ่ง ถือเป็นแนวทางในการป้องกันการปฏิวัติได้ ไม่คิดว่าจะได้นำมาใช้ด้วยซ้ำ แต่เป็นการบัญญัติเผื่อไว้เท่านั้นเอง"


"ประธานศาลฎีกา" ยังมีอำนาจสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายอีกตำแหน่ง


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

กรรมการการเลือกตั้ง

ยังไม่นับรวมไปถึงอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของประธานศาลฎีกา ในฐานะเป็น "ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล" อีกงานหนึ่ง

ปรากฏการณ์สถาปนาอำนาจให้ฝ่ายตุลาการตามรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ทำให้เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาดังๆ แล้วว่า รัฐธรรมนูญจะ "เสียดุลยภาพ"

แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ข้อวิตกกังวลว่า ปรากฏการณ์ "ตุลาการภิวัฒน์" อาจกลับกลายเป็น "ตุลาการวิบัติ" ขึ้นมาได้ เพราะเข้าไปยุ่มย่ามกับการเมืองมากเกินไป


แล้วถึงวันนั้น ใครจะช่วย "ตุลาการ" กันเล่า???



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์