นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นักกฎหมายชั้นนำของประเทศ ตอบคำถามบนเว็บไซต์ www.meechaithailand.com เกี่ยวกับการใช้กฎหมายทางการเมือง โดยมีผู้เข้าไปตั้งคำถามถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 7 คืออะไร และจะถูกนำมาใช้ได้เมื่อไหร่
ซึ่ง นายมีชัย ยืนยันว่า มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้สำหรับกรณีที่เกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่มีบทบัญญัติเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ทำไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น ในกรณีมีการยุบสภา รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติรองรับไว้ว่าจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป กล่าวคือ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งให้อยู่รักษาการต่อไป ก็ต้องรักษาการต่อไป จะไปใช้มาตรา 7 ยังไม่ได้ เพราะเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ แต่ถ้านายกรัฐมนตรีเกิดเสียชีวิตหรือง่อยเปลี้ยเสียขาหรือไม่อยากอยู่รักษาการต่อไป ลาออกเสียดื้อๆ ก็มีกฎหมายรองรับว่า รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งก็ขึ้นรักษาการต่อไป อย่างนี้ก็นำมาตรา 7 ก็มาใช้บังคับไม่ได้อีก
ขณะเดียวกัน หากนายกรัฐมนตรีเสียชีวิตหรือง่อยเปลี้ยเสียขาหรือเบื่อขี้หน้าขึ้นมาพร้อมๆ กับรัฐมนตรีคนอื่นๆ จนไม่มีใครเหลืออยู่ สภาผู้แทนก็ไม่มีแล้ว เนื่องจากยุบไปแล้ว อย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่าไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราใดบอกไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บ้านเมืองจะต้องมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องหาทางตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศให้จงได้ เหลือองค์กรอำนาจอะไร ก็ต้องใช้องค์กรอำนาจนั้นเท่าที่มีอยู่เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้
ทั้งนี้นายมีชัยกล่าวต่ออีกว่า สำหรับคนที่ออกมาพูดว่าในระหว่างรักษาการนั้นลาออกไม่ได้ น่าจะเป็นการเข้าใจผิด ซึ่งการลาออกเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพราะถ้าไม่อยากอยู่ในตำแหน่ง ก็ไม่มีใครบังคับให้ต้องอยู่ต่อไปได้ เปรียบเหมือนข้าราชการตำแหน่งเล็กๆ วันดีคืนดีไม่อยากเป็นข้าราชการต่อไปจะลาออกเสียเมื่อไรก็ได้ อย่างมากทางราชการจะทำได้ก็คือการยับยั้ง
ซึ่งก็ทำได้เพียงชั่วคราวไม่เกิน 3 เดือน หลังจากนั้นก็ต้องยอมให้ลาอออก แต่ตำแหน่งรัฐมนตรีไม่มีกฎหมายอะไรบังคับไว้ว่าใครจะยับยั้งได้ บทบัญญัติที่ให้รักษาการกันอยู่ต่อไปใช้เฉพาะกรณีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเท่านั้น ไม่ได้ใช้กับกรณีที่ต่างคนต่างทะยอยลาออกหรือล้มหายตายจากไป หรือถ้าในระหว่างรักษาการเกิดมีรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งทำทุจริตคิดมิชอบเสียจนรับต่อไปไม่ได้หรือเกิดเบื่อขี้หน้าขึ้นมา นายกฯ ก็ยังมีอำนาจกราบบังคมทูลเพื่อเอาออกจากตำแหน่งได้เช่นกัน
นอกจากนั้นนายมีชัยยังตั้งข้อสังเกตพร้อมตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 126 ชัดๆ ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ แต่ยังมีรัฐมนตรีออกมาแถลงอย่างโจ่งแจ้งว่า ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ แล้วพอมาตรา 181 บัญญัติว่า "คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถึงกับจะยอมผูกมัดจนแปลไปว่าลาออกก็ไม่ได้ทีเดียวเลยหรือ