'ปู'ลั่น!ข้อเสนอ'สุเทพ'ต้องประชามติ
'ปู'ลั่น!ข้อเสนอ'สุเทพ'ต้องประชามติ ย้ำไม่ยึดติดรบ.พร้อมยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ศอ.รส.แถลงเชิญสื่อ-ทูตตรวจสอบที่สถานที่ชุมนุม
เมื่อเวลา 12.27น.วันที่ 8 ธ.ค.2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจความว่า นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมาจนมาถึงปัจจุบันรวมระยะเวลาเป็นเวลาร่วมหนึ่งเดือนเศษมาแล้ว ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นจนทำให้ประเทศตกอยู่ในขั้นวิกฤติ รัฐบาลต้องขอแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่ทำให้พ่อแม่พี่น้อง ประชาชนต้องมีความเดือดร้อนและกังวลใจ รวมถึงเรื่องไม่สบายใจในเรื่องต่างๆที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามอย่างยิ่งยวดในการป้องกันเหตุรุนแรงต่างๆ รวมทั้งที่จะเปิดเวทีต่างๆที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้ชุมนุมและประชาชนทุก เมื่อ ข้อเสนอของผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสภาประชาชน หรือการขอนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 นั้น ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฎิบัติว่าจะดำเนินการอย่างไร อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดรองรับในการกระทำ หรือมีการถกเถียงกันในทางวิชาการ และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ข้อสรุปให้เป็นที่ยอมรับของทุกๆฝ่าย
"ดิฉันขอเรียนพี่น้องประชาชนว่ารัฐบาลมีความพร้อมที่จะยุบสภา หากเป็นความต้องการพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรับธรรมนูญ กล่าวคือเมื่อยุบสภาแล้วต้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด และในกติกาที่เป็นธรรม หากผู้ชุมนุมและพรรคการเมืองใหญ่ไม่ตอบรับ หรือไม่ยอมรับในผลการเลือกตั้ง ก็จะเป็นเพียงการยืดเวลาของความขัดแย้งออกไปเช่นเดียวกับเหตุการณ์ความ วุ่นวายในปี 2549 ซึ่งมีพรรคการเมืองบอยคอร์ตไม่ลงรับสมัครรับเลือกตั้งทำให้เกิดภาวะสูญญากา ศทางการเมือง อันนำไปสู่การปฎิวัติรัฐประหารในที่สุด" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นรัฐบาลจึงขอเสนอให้มีการตั้งเวทีหารือในข้อเสนอของผู้ชุมนุม หากยังขัดแย้งกันจนหาข้อยุติที่ตรงกันไม่ได้ก็ขอเสนอให้มีการทำประชามติ เพื่อให้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน พร้อมทั้งสรุปแนวทางการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเกิดฉันทามติของทุก พรรคการเมือง ผู้ชุมนุม ทุกภาคส่วนให้ยอมรับผลการตัดสินใจของประชาชนตามกติกา และตามรอบอบประชาธิปไตยภายในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้สามารถแก้ความขัดแย้งให้หมดสิ้นไปอย่างแท้จริง พี่น้องประชาชนที่เคารพ
"ดิฉันขอยืนยันอีกครึ่งหนึ่งว่า ดิฉันไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง ยินดีที่จะยุบสภา หรือลาออก เพียงขอให้มั่นใจว่าเป็นทางออกที่แท้จริงและสามารถทำให้ได้ข้อยุติต่างๆได้ ยุติลง ประเทศชาติเดินหน้าต่อไป โดยให้มั่นใจว่าข้อเสนอนั้นเป็นข้อเสนอของเสียงส่วนใหญ่ของพี่น้องประชาชน อย่างแท้จริง" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวและว่า
สำหรับข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ที่ยืนยันมาโดยตลอดว่ายุบสภาก็ไม่เอา นายกฯลาออกก็ไม่เอา แต่ให้คืนอำนาจให้กับประชาชนโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งนั้นถือเป็นสิ่งใหม่ ที่ยังไม่มีข้อยุติว่าเป็นไปตามครรลองในระบอบประชาะปไตยหรือไม่ สำหรับรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารโดยไม่ผ่านกระบวนการการเลือกตั้งตามระบอบ ประชาธิปไตยนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของประเทศอย่างมาก หากจะเสนอให้ดำเนินการน่าจะถามความเห็นของพี่น้องประชาชนว่าเป็นความเห็นของ พี่น้องประชาชนจริงหรือไม่ ซึ่งการทำประชามติถือเป็นวิธีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
"สุดท้ายนี้ดิฉันเชื่อมั่นว่าเราทุกคนรักประเทศชาติไม่แพ้กัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้ประเทศชาติอขงเราไม่ให้บอบช้ำไปมากกว่านี้ ดิฉันอยากจะเห็นพวกเราทุกคนหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ส่วนในวันจันทร์ที่จะถึงนี้รัฐบาลยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอของผู้ชุมนุมเพื่อ นำมาพิจารณาและหาทางออกร่วมกัน วันนี้ไม่มีใครแพ้แต่ว่าพวกเราทุกคนร่วมถึงประชาติเป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งหมด ขอบคุณค่ะ" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
หลังแถลงข่าวเสร็จสิ้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เปิดโอกาศให้สื่อมวลชนได้ซักถาม โดยผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าสถานการณ์ในวันที่ 9 ธ.ค.ยังคงบานปลายยังจะยืนยันจุดยืนเดิมตามที่ได้แถลงหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องเรียนว่าในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.) หากสถานการณ์จะบานปลายก็คือการก่อความรุนแรง ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าเราจะใช้หลักสันติในการดูแลประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีใครทำร้ายประชาชน
เมื่อถามว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจนเป็นที่จับตาของต่างชาติ นายกฯจะสามารถยุติธรรมนี้ได้เมื่อใด และจะยุติภายในสิ้นปีหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รัฐบาลทำอย่างเต็มที่ แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนได้มาแถลงในวันนี้ เพื่อเรียนเชิญทุกภาคส่วนว่า เราจะหาแนวทางอย่างไรที่ตกลงเห็นชอบกัน ที่เป็นความต้องการของประชาชนแบบมีฉันทามติ นั่นก็คือการเสนอการทำประชามติ เรียนว่ารัฐบาลพร้อมให้ความร่วมมือในทุกรูปแบบ
"ขอให้เราช่วยกันแก้ไขปัญหาเถอะค่ะ เพราะว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น เรามีความขัดแย้งกันหลายอย่าง ถ้าเรามาพูดกันแค่การแก้ปัญหาระยะสั้น ดิฉันเชื่อว่าความขัดแย้งนี้ก็จะไม่มีวันหมดสิ้นไป ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางที่จะแก้ปัญหาเพื่อเป็นข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับ" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
เมื่อถามว่า หากพรรคประชาธิปปัตย์เตรียมลาออกยกพรรครัฐบาลจะเตรียมการรับมืออย่างไร นายกฯ กล่าวว่า อย่างที่เรียนว่า เราไม่อยากให้มีสูญญากาศทางการเมืองเกิดขึ้น การที่บ้านเมืองของเราไม่รับกติกา โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน เราเคารพในเสียงสวนน้อยของประชาชน แต่การกระทำที่นอกระบบหรือแนวทางที่เสนอนอกระบบเรียนว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ซึ่งจะทำให้ประเทศเราไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ถ้าเราไม่รับหลักประกันภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เราจะเดินหน้าอย่างไร หากเราไม่มีหลักประกันของระบอบประชาธิปไตยวามยุติธรรมให้กับประชาชนก็ไม่มี หลักประกันเช่นกัน
เมื่อถามว่าข้อเสนอหรือแนวคิดในการทำประชามติได้มีการวางหัวข้อเบื้องต้นไว้ อย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการวางหัวข้อ ทั้งนี้เป็นเพียงขั้นต้นในการเสนอแนวทางออกของปัญหาภายใต้บทบัญญัติที่จะ สามารถกระทำได้ โดยหัวข้อของประชามตินั้นตนยังเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมาหารือกันว่า เราจะถามความต้องการของประชาชนอย่างไร เพื่อให้ข้อยุติ เพราะหลายๆ ฝ่ายบอกว่าเรามีเสียงของประชาชน เรามีเสียงข้างมาก ซึ่งเราคงต้องหากติกาเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับและกติกานั้นจะเป็นกติกาที่เป็น สากล
หารือศอ.รส.สีหน้าตึงเครียด
ก่อนแถลงน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางเข้าไปยังศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อร่วมหารือและติดตามสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่จะมีการยกระดับการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ และมีเป้าหมายเดินทางไปสถานที่ราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะทำเนียบรัฐบาล ขณะที่มีคณะรัฐมนตรี เข้าร่วมหารือด้วย อาทิ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คอยต้อนรับ
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางเข้าหารือ ได้มีสีหน้าตึงเครียด และไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ศอ.รส.แถลงเชิญสื่อ-ทูตตรวจสอบที่สถานที่ชุมนุม
เมื่อเวลา 11.25 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) แถลงว่า ในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.) ทาง ศอ.รส ขอเชิญชวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งผู้แทนเจ้าหน้าที่ทางการทูตจากประเทศต่างๆ พี่น้องสื่อมวลชน องค์การอิสระ องค์การมหาชน รวมทั้งกลุ่มพี่น้องประชาชน ร่วมเข้าไปสังเกตุการณ์ตรวจสอบสถานที่ ณ บริเวณที่มีการชุมนุม
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ที่ต้องการแจ้ง ก็คือ จุดในมุมสูง จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่นั้น ขอเชิญเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนทุกฝ่าย ไปร่วมปฏิบัติหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะแต่งกายด้วยเครื่องแบบ ปราศจากอาวุธ ประจำ ณ จุดสังเกตุการ์ต่างๆ บริเวณโดยรอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล สำหรับสื่อมวลชน ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมสังเกตุการณ์ เก็บภาพ บันทึกภาพ และ ฉายภาพต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบนั้น สามารถติดต่อได้ที่ บช.น. ได้ตลอดเวลา เพื่อให้สถานการณ์ต่างๆคลี่คลายไปได้ด้วยดี
นายกฯ" ถก ศอ.รส รับมือม็อบเคลื่อนไหวใหญ่ 9 ธ.ค.
เมื่อเวลา 11.00น. ที่ ศอ.รส. น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสถานการณ์ ของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) โดยมีรัฐมนตรี อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผอ.ศอ.รส. เข้าร่วมประชุม รวมทั้งยังมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานด้านความยุติธรรม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ฐานะประธานด้านดูแลประชาชน นาวาอากากศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที ประธานด้านข้อมูลข่าวสาร พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรฯ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ รมช.ศึกษา พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตัวแทนกอ.รมน. เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้เพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมือง และการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมกปปส.และกลุ่มอื่นๆ ที่ประกาศร่วมกันเดินเท้าไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้