ขรก.เซ็งถูกเกณฑ์ฟังเฉลิมพูดการเมือง

ขรก.เซ็งถูกเกณฑ์ฟังเฉลิมพูดการเมือง

ขรก.แรงงานสุดเซ็งถูกเกณฑ์ฟัง 'เฉลิม' บรรยายการเมือง ท้าโหวตเอา 'ทักษิณ'หรือ 'มาร์ค' หากแพ้ไม่กลับบ้าน อัดนักวิชาการโง่ค่อนประเทศเสนอใช้มาตรา 7 ชี้ทำไม่ได้

 เมื่อวันที่  6   ธ.ค.2556  เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม  กระทรวงแรงงาน 

  ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเรียกผู้บริหาร  ข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคหลายร้อยคนเข้ารับฟังการสรุปวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง โดยร.ต.อ.เฉลิม กล่าวตอนหนึ่งว่า อยากขอบคุณข้าราชการที่ช่วยกันรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้ามาชุมนุมล้อมรอบกระทรวงแรงงานกดดันให้ยุติการปฎิบัติหน้าที่ด้วยความอะลุ่มอล่วยทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยดี เป็นข้าราชการกระทรวงแรงงานต้องฉลาดรู้เท่าทันการเมือง  


ส่วนที่มีนักวิชาการออกมาเสนอขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ให้ทรงโปรดเกล้าฯนายกรัฐมนตรีพระราชทานตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เหมือนสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะมาตรา 14 ในสมัยนั้นไม่ได้ระบุว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.  แต่มาตรา  161   ของรัฐธรรมนูญปี 2550 นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.  ซึ่งการที่นักวิชาการค่อนประเทศออกมาเสนอเป็นการแสดงถึงความไม่ฉลาดและแนวทางของนายสุเทพ     เทือกสุบรรณ   เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่เสนอเรื่องนี้เป็นแนวทางย้อนยุคสมัยกรีกโบราณสมัย  500   ปีที่แล้ว


“ผมรู้นะว่ามีข้าราชการไปร่วมเป่านกหวีดหลายคน   แต่ไม่ว่าอะไร     ขอขอบคุณที่ไม่ได้หยุดทำงานเหมือนกระทรวงอื่น     และอยากถามนักวิชาการว่าระบอบทักษิณคืออะไร ขอท้าให้มาโหวตกันระหว่างเอาทักษิณกับเอาอภิสิทธิ์ แล้วให้ยูเอ็นเป็นกรรมการ ให้คนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปมาเลือก แล้วมาดูกันว่าประชาชนจะเอาใคร ถ้าพรรคเพื่อไทยแพ้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องกลับบ้าน ผมก็จะเลิกเล่นการเมือง ถ้าอยากจะปรับโครงสร้างประเทศให้ใช้มาตรา 291 แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตั้ง สสร. 99 คน ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แล้วทำประชามติถามประชาชน ใช้เวลาแค่ 6  เดือนก็เสร็จ” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้าราชการที่เข้าฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์การเมืองถูกเกณฑ์มากรมละ 80 คน ให้มานั่งฟังในเวลาราชการ   ซึ่งตลอดเวลาที่ ร.ต.อ.เฉลิมบรรยายการเมืองและโจมตีพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)และ กปปส. ได้ใช้คำสบถหลายครั้ง   ทำให้ข้าราชการต่างพากันนั่งฟังด้วยท่าทีเบื่อหน่าย  และบางช่วง ร.ต.อ.เฉลิม ยังขอให้ข้าราชการแสดงความเห็นด้วยการปรบมือ แต่ไม่ค่อยได้รับการตอบรับเท่าที่ควร  


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์