มีสำนวน 1 ในยุทธนิยายกำลังภายในของจีน ไม่ว่าจะเป็นของท่านกิมย้ง ไม่ว่าจะเป็นของท่านโกวเล้ง ไม่ว่าจะเป็นของท่านหวงอี้ ไม่ว่าจะเป็นของท่านจิ่วถู
คนในยุทธจักร "ไม่เป็นตัวของตัวเอง"
บทสรุปนี้มีความขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่งยวด 1 เพราะว่าคนในยุทธจักรมีความเหี้ยมหาญรักความเป็นอิสระอย่างที่สุด
กฎเหล็กของคนในยุทธจักร คือ ไม่ยอมรับราชการ
ขณะเดียวกัน ความเป็นจริง 1 ในยุทธจักรก็คือ ความสัมพันธ์อันยึดโยงระหว่างค่ายและสำนักที่มีทั้งขัดแย้งและร่วมมือกัน
ตรงนี้แหละที่ทำให้คนในยุทธจักรจำเป็นต้อง "ขึ้นต่อ"
การขึ้นต่อสำนัก การขึ้นต่อครูบาอาจารย์ การขึ้นต่อสหายร่วมแนวทาง เงื่อนไขนี้แหละที่ทำให้มิอาจดำรงความเป็นตัวของตัวเองอยู่ได้
คนในยุทธจักรเป็นเช่นนี้ คนในวงการเมือง วงการการเคลื่อนไหวในทางการเมืองก็เป็นเช่นนี้
ดูตัวอย่างของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เถิด
คนระดับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มิใช่ "ละอ่อน" ในทางการเมืองอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมองจากสถานะอันเคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
ไม่ว่าจะมองจากสถานะตำแหน่งทางการเมือง
เริ่มต้นอาจเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ต่อมาก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ตำแหน่งสุดท้ายคือ รองนายกรัฐมนตรี
เหมือนกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นับแต่เดือนสิงหาคม 2556 เป็นต้น จะเป็นไปอย่างอิสระ เป็นตัวของตัวเอง
แต่ความจริงก้าวตามคำชี้แนะของแกนนำ "พันธมิตรฯ" อย่างมีขั้นตอน
เริ่มจากแกนนำพันธมิตรเรียกร้องให้ลาออกจาก ส.ส. มาเคลื่อนไหวก็ทำตาม ตอนแรกก็ประกาศหลักการอหิงสาอย่างแน่วแน่ แต่ต่อมาก็ไต่ระดับไปสู่การยึดสถานที่ราชการ ยึดกระทรวงทบวงกรม
เหมือนที่พันธมิตรฯ เคยทำเมื่อเดือนสิงหาคม 2551
เมื่อยึดสถานที่ราชการ ยึดกระทรวงทบวงกรม จากนั้นก็ได้ยินคำว่า "ปฏิวัติประชาชน" ได้ยินคำว่า "สภาประชาชน" จากปากของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
จำได้หรือไม่ "ปฏิวัติประชาชน" และ "สภาประชาชน" มาจากปากของใคร
จุดอันละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งก็คือ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวยกระดับอย่างไม่ขาดสาย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะหาบทจบอย่างไร
ตรงนี้แหละต้องมองไปยังคนที่ "ไขลาน" อยู่ข้างหลัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
เป้าหมายต้องการโค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างแน่นอน เป้าหมายต้องการจัดตั้งสภาประชาชน จัดตั้งรัฐบาลประชาชนอย่างแน่นอน
คำถามก็คือ หากเคลื่อนไหวแล้วไม่สำเร็จ อะไรจะเกิดตามมา
คำตอบ 1 คือความต้องการที่จะยกระดับเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คำตอบ 1 คือความต้องการอาศัยความรุนแรงมาเป็นเครื่องมือ สร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การปะทะมาเป็นเงื่อนไขให้สภาพอนาธิปไตยขยายใหญ่
"รัฐประหาร" ต่างหากคือเป้ามิได้เป็น "การปฏิวัติ"
.................
(ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2556)