พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า การดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม ถือเป็นนโยบายของผู้ที่ดูแลต้องรับผิดชอบ
ในส่วนที่ดูแลจะระวังอย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแกนนำ หรือ ผู้ชุมนุม ส่วนกรณี ร.ต.อ.เฉลิมไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดในการดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะรัฐบาลได้มอบหมายให้ตนเองเป็นรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเพียงการมาให้คำปรึกษาครั้งคราวเท่านั้น ขอยืนยันว่ารัฐบาลให้ความเคารพสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอย่างสูงสุด เพราะตระหนักดีว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ครอบครองอาวุธแต่อย่างใด
ส่วนการสลายการชุมนุมรัฐบาลก็มีแค่อุปกรณ์ขั้นพื้นฐานสำหรับการควบคุมเท่านั้น เช่น โล่ กระบอง เป็นต้น
และไม่เคยห้ามไม่ให้ใครติดธงชาติเพื่อเป็นสัญลักษณ์เพราะถือว่าเป็นสิทธิที่กรได้ รวมทั้งการเป่านกหวีดก็ไม่ได้ห้าม แต่การเป่านกหวีดไปรบกวนใครก็มีสิทธิถูกดำเนินคดีฐานก่อความรำคาญเดือดที่มีความผิดลหุโทษเท่านั้นไม่ใช้ข้อหาร้ายแรง จากนั้นร.ต.อ.เฉลิม ได้อภิปรายตอบโต้นายวัชระว่า ไม่เคยได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้ไปดูแลการชุมนุมแต่หารือและปรับทุกข์พล.ต.อ.ประชา ในฐานะอดีตตำรวจเก่าด้วยกันเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเข้าไปแทรกแซงพล.ต.อ.ประชา ดังนั้น การกล่าวหากันแบบนี้เรียกว่าปัญญาทึบ
ทำให้บรรยากาศในห้องประชุมได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อนายวัชระ พยายามจะประท้วงการอภิปรายของร.ต.อ.เฉลิม
ที่ได้มีการกล่าวหา แต่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ สั่งให้ร.ต.อ.เฉลิม ถอนคำพูดดังกล่าวซึ่งร.ต.อ.เฉลิม ได้ขอถอนตามคำพูด แต่นายวัชระยังแสดงความไม่พอใจด้วยการเป่านกหวีดและตะโกนส่งเสียงในห้องประชุมสภาฯทั้งที่นายวิสุทธิ์ไม่ได้อนุญาต ส่งผลให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยนำโดยนายฉลอง เรี่ยวแรง ส.ส.นนทบุรี อภิปรายเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯควบคุมการทำหน้าที่ของส.ส.ฝ่ายค้านด้วย
“ถ้าอยากเล่นการเมืองข้างถนนก็เชิญไปเล่นกันข้างนอกข้างถนน แต่ที่นี่คือสภาอันทรงเกียรติขอให้ทุกคนให้ความเคารพด้วย”
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ ตอบโต้ว่า การทำงานของฝ่ายค้านยังมีจุดยืนเดิม คือ การทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลในสภาเหมือนเดิม
แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ควรเข้ามาทำหน้าที่ในสภาด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการถามกระทู้ดังกล่าวได้มีเหตุวุ่นวาย และมีการพาดพิง รวมถึงประท้วงกันไปมา จนทำให้นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมขอให้นายวัชระ ออกจากห้องประชุม และขอให้ผู้ประท้วงได้มีการยุติ ทั้งนี้นายวิสุทธิ์ได้พูดย้ำหลายครั้งว่า “ผมปวดหัว”