อมธ.แถลงล่าชื่อไล่ แม้ว ทะลุเป้าเกิน 50,000 ใน 13 วัน!!!

อมธ.แถลงล่าชื่อไล่ "แม้ว" ทะลุเป้าเกิน 50,000 ใน 13 วัน!!!

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 กุมภาพันธ์ 2549 15:11 น.

ทะลุเป้า 50,000 แล้ว อมธ.แถลงยอดลงชื่อถอดถอนเกิน 5 หมื่นใช้เวลาแค่ 13 วัน ระบุเดินหน้าเปิดโต๊ะต่อเนื่องตั้งเป้าแสนคน กันขาดคุณสมบัติทำกระบวนการทางกฎหมายแท้ง เผยชื่อเครือข่ายนิสิต-นักศึกษากระจายทั่วประเทศ ชี้กลุ่มผู้ชุมนุม-กลุ่มล่าชื่อต่างเกื้อหนุนและมีจุดหมายเดียวกัน ผู้ชุมนุมเป็นทัพหน้าส่วนนักศึกษาเป็นทัพหลังขาดส่วนใดไปก็ทำานไม่สำเร็จ ยันการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (24 ก.พ.) ที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) แถลงข่าวความคืบหน้าการล่ารายชื่อถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยนายธนาชัย สุนทรอนันตชัย อดีตนายกอมธ. ปี 2548 กล่าวว่า ขณะนี้ยอดผู้ลงลายมือชื่อเพื่อถอดถอนนายกฯ นับตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. - 23 ก.พ. 2549 มียอดรวมทั้งสิ้น 51,260 รายชื่อ โดยรวมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนยอดบริจาคจากบัญชีของอมธ.และกล่องรับบริจาคมีจำนวนทั้งสิ้น 438,653 บาท อมธ.ขอขอบคุณประชาชนและสื่อมวลชนที่ให้การสนับสนุนกิจกรมของนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

นายธนาชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มนิสิต นักศึกษารักประชาชน มีเครือข่ายนิสิต นักศึกษา ที่ร่วมตั้งโต๊ะเพื่อรับลงชื่อถอดถอนและจัดเวทีสาธารณะอยู่ทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย มธ. ท่าพระจันทร์ เป็นศูนย์กลาง มธ.ศูนย์รังสิต มธ.ศูนย์ลำปาง เครือข่ายสังคมวิจารณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มกล้าที่จะก้าวเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พรรคสัจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มพลังเสรี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มพลังประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยนเรศวร เครือข่ายองค์การ สโมสรนิสิตนักศึกษา นครราชสีมา 14 สถาบัน โดยมีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นศูนย์กลาง กลุ่มนิสิต นักศึกษารักประชาชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ องค์กรกิจกรรมนักศึกษา มอ. วิทยาเขตปัตตานี กลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว และกลุ่มนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวัตกรรมศาสตร์ มธ.ศูนย์รังสิต ที่ร่วมเป็นเครือข่ายจัดกิจกรรมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองกับประชาชน นอกจากนี้ อมธ. ยังได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมในภูมิภาคกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ดังนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยวลัยลงกรณ์ และเร็ว ๆ นี้จะไปร่วมกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช

ทั้งนี้กลุ่มนิสิต นักศึกษารักประชาชนจัดทำเข็มกลัดรวมพลังตรวจสอบ และคู่มือเจ้าของประเทศขนาด เอ6 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญและรายละเอียดเกี่ยวกับการลงชื่อถอดถอน อันเป็นสิทธิของประชาชนจัดพิมพ์ในเบื้องต้นประมาณ 10,000 เล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนและนักศึกษาทั่วประเทศ

นายสุรพงษ์ บุญเดชารักษ์ นายกอมธ. ปี 2549 กล่าวถึงการสานต่อกิจกรรมของอมธ.ชุดใหม่ต่อจากชุดเดิมว่า ยังยืนยันในหลักการและแนวทางเดิมที่จะล่ารายชื่อเพื่อตรวจสอบ และถอดถอนตามกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนวิธีการอื่นใดนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยขณะนี้แม้ว่าจะได้รายชื่อครบ 50,000 รายชื่อแล้ว แต่อมธ.ก็ยังต้องการให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อมากขึ้น เพราะอาจจะมีบางคนที่มีคุณสมบัติไม่ครบ และต้องการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามขณะนี้นักศึกษามีภารกิจที่จะต้องเข้าเรียนจึงอาจมีอาสาสมัครที่มารับลงชื่อไม่เพียงพอ แต่ยืนยันว่าการล่ารายชื่อยังดำเนินการต่อไปทุกวัน และยังคงจัดเวทีสาธารณะทุกวันศุกร์เช่นเดิมเพื่อสร้างความรู้ให้ประชาชน และสร้างการมีส่สนร่วมในการเป็นเจ้าของประเทศให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งหากประชาชนคนใดต้องการมาทำหน้าที่อาสาสมัครรับลงชื่อร่วมกับนักศึกษาก็ยินดีอย่างยิ่ง โดยอมธ.จะยังคงตั้งโต๊ะล่าชื่อต่อไปเรื่อย ๆ อาจจะถึง 80,000-100,000 รายชื่อเพื่อป้องกันรายชื่อที่ขาดคุณสมบัติ

ด้านนายวิรุฬห์ จินตนะกุล ฝ่ายกฎหมาย อมธ. กล่าวว่า การเลือกผู้แทนเข้ามาบริหารประเทศต้องทำด้วยความโปร่งใส หากผู้บริหารประเทศไม่โปร่งใสก็ควรมีการตรวจสอบได้โดยสภา หรือการใช้อำนาจกฎหมาย และกระบวนการของศาล ซึ่งกลุ่มที่มาชุมนุมในวันที่ 26 ก.พ. และกลุ่มที่ดำเนินการล่ารายชื่ออยู่นั้นมีจุดหมายในแนวทางเดียวกันและขอทำควมเข้าใจว่าการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนสามารถทำได้ ซึ่งการชุมนุมหวังผลเพื่อให้เกิดกระแสทางสังคมและกระแสกดดันทางการเมือง ขณะที่การล่ารายชื่อเป็นการหวังผลทางกฎหมาย เพราะการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องทำร่วมกันหลายทาง หากแยกกันทำก็จะไม่เกิดผลใดขึ้น ดังนั้นการดำเนินกิจกรรมของนักศึกษาจึงเป็นการเกื้อหนุนกันกับกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ได้แยกกันเดินหรือขาดออกจากกัน เพียงแต่เราเดินคนละเส้นทางแต่มุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน โดยในวันที่ 26 ก.พ. จะมีการเปิดให้ประชาชนเข้าลงชื่อถอดถอนที่ลานโพธิ์จนถึงเวลา 21.30 น. แล้วจะปิดโต๊ะ โดยไม่ไปตั้งโต๊ะรับลงชื่อภายนอกมหาวิทยาลัย

"การรบจะต้องมีทัพหลายกอง โดยมีทั้งกองหน้า กองหลัง กองเสบียง และกองพยาบาล กลุ่มผู้ชุมนุมก็เปรียบเสมือนทหารกองหน้า ขณะที่กลุ่มล่ารายชื่อเปรียบเสมือนทหารกองหลังที่ทำให้เกิดบรรทัดฐานตามครรลองของรัฐธรรมนูญ แม้ไม่ส่งผลโดยตรงแต่ก็เป็นฝ่ายสนับสนุนกองหน้า หากขาดส่วนหนึ่งไปการตรวจสอบก็คงไม่เสำเร็จจึงเชิญชวนประชาชนให้เข้ามาร่วมลงชื่อไม่ว่าจะเห็นด้วยกับการบริหารงานของนายกฯหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่มาร่วมลงชื่อเพื่อตรวจสอบว่านากยรัฐมนตรีบริหารงานอย่างโปร่งใสจริงหรือไม่" นายวุฬห์ กล่าว

ทั้งนี้สำหรับการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อบริเวณห้าวสรรพสินค้าสีลม คอมเพลกซ์ เมื่อวันที่ 19-22 ก.พ.ที่ผ่านมามีผู้ร่วมลงชื่อโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 500 คน ขณะที่มีผู้ส่งรายชื่อมาทางไปรษณีย์โดยเฉลี่ยวันละ 700-800 คนต่อวัน นอกจากนี้ในการจัดเวทีสาธารณะในวันนี้ อมธ. จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา โดยได้ประสานไปยังกลุ่มนักเรียนเพื่อประชาธิปไตยให้มาร่วมให้ข้อมูล และแสดงจุดยืนต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์