"ปู" ตั้งอนุกรรมการฯวิเคราะห์ผลตัดสินศาลโลก เตรียมแจงที่ประชุมร่วมรัฐสภาพรุ่งนี้ ย้ำ "ไทย-กัมพูชา"ชนะทั้งคู่ ยังไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสคัดค้านคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหารของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า จากการตีความของศาลโลก เป็นการตีความให้เกิดความชัดเจนหลังจากมติ ครม.เมื่อปี 2505 เมื่อปราสาทเป็นของกัมพูชาแล้ว ดินแดนตรงนี้จะดูแลกันอย่างไร ซึ่งเราจะนำกลไกนี้ไปหารือร่วมกันกับฝ่ายกัมพูชา เพราะว่าเรามีกลไกกรรมาธิการร่วมฯ อยู่แล้ว ซึ่งกลไกนี้จะเป็นกลไกหารือร่วมกัน เพราะศาลโลกได้บอกว่า ในส่วนของปราสาทพระวิหารนั้น เป็นมรดกโลกทั้งสองประเทศ ต้องร่วมกันพัฒนา ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราจะนำไปหารือในรายละเอียดต่อไป ขณะเดียวกันในพื้นที่ เราได้ให้เจ้าหน้าที่ ทหาร ตรึงพื้นที่อยู่ตามเดิม นอกจากนี้การทำงานทั้งหมดนั้น ต้องไปหารือในเนื้อหาขอบเขตของตัวปราสาทว่าเป็นอย่างไร ยืนยันว่าเรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องของเขตแดน โดยในวันที่ 13 พ.ย.นี้จะมีการนำเอาคำพิพากษาไปชี้แจงกับรัฐสภา รวมถึงรัฐบาลได้มีการตั้งอนุกรรมการ ที่จะศึกษาและวิเคราะห์ในเรื่องของคำพิพากษา และจะเป็นแนวทางที่ต้องไปหารือร่วมกัน และทำตามบทบัญญัติข้อกฎหมาย รัฐธรรมนูญของไทย
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีแถลงว่าคำพิพากษามีคุณกับไทย ในเชิงบริหารไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จากประเด็นที่เรายื่นไปให้ตีความให้ชัดเจนในประเด็น ครั้งที่ศาลโลกมีคำวินิจฉัยในปี 2505 ซึ่งศาลก็ให้ความชัดเจน ส่วนประเด็นที่ 2 ที่กัมพูชา ขอในเรื่องแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ก็จบแล้ว ถือว่าศาลไม่รับตรงจุดนี้ จึงเป็นสิ่งที่เป็นคุณ เพราะในบริเวณนี้ที่ประชาชนเป็นกังวล แต่ขณะนี้บรรยากาศตามแนวชายแดนนั้นคลายความกังวลไปมาก
ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา(เจซี) จะเริ่มได้เมื่อไร
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องรอให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เดินทางกลับมาจากกรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ก่อน จากนั้นก็จะไปประสานงานกับกัมพูชา ว่าจะมีความพร้อมหรือไม่ โดยเราจะเร่งการพูดคุยอย่างเร็วที่สุด ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่ กว่าจะรู้ว่าเราเสียพื้นที่ไปเท่าไร ยืนยันว่าเราต้องทำอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าหลายๆประเทศ เมื่อศาลโลกพิพากษามาแล้วก็หารือแนวทาง โดยเจตนาของศาลโลกนั้นคงอยากให้ทั้งสองประเทศไปหารือกัน และเราไม่อยากให้เห็นความขัดแย้งอยู่แล้ว ก็อยู่ที่ทั้งสองประเทศจะหารือในการบริหารพื้นที่ร่วมกัน
เมื่อถามอีกว่า กังวลหรือไม่หลังศาลโลกมีคำตัดสินแล้ว ทางกัมพูชา รวมถึงสื่อต่างประเทศ ออกมาพูดในทางตรงกันข้ามกับไทย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องบอกว่าต่างฝ่ายต่างมองในมุมของตัวเอง แต่ประเด็นนั้นเราอย่ามองว่าเป็นชัยชนะหรืออะไรเลย ถ้าถามก็เหมือนกับว่าเป็นชัยชนะของทั้งสองประเทศ และความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่เราไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่เกิดความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งการหารือในส่วนของพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นส่วนน้อยนั้น ก็ต้องไปคุยกันในรายละเอียดของแผนที่จริง และตัวพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งศาลโลกยังไม่ให้ความชัดเจนตรงนี้ ก็คงต้องให้ฝ่ายที่ตีความนั้นมาพูดคุยกันต่อในคณะอนุกรรมการ ก็ขออนุญาตให้สื่อมวลชนรอก่อนเพราะต้องศึกษาที่ละขั้น และเราต้องศึกษาในคำพิพากษา ขั้นตอนยังมีอีกเยอะ โดยการตัดสินใจหลายๆ อย่างเมื่อรัฐบาลหารือได้ข้อยุติ ก็ต้องเข้าไปที่รัฐสภาตามขั้นตอนอยู่แล้ว ให้ประชาชนรับทราบ.