ทหารเฉย-องค์กรอิสระชักช้าจุดเสี่ยงสงครามปชช.

ทหารเฉย-องค์กรอิสระชักช้าจุดเสี่ยงสงครามปชช.

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ "สุดซอย" ที่เร่งผ่านเต็มสปีดเมื่อคืนวันฮัลโลวีน หรือ "คืนปล่อยผี" เมื่อราวตีสี่ครึ่งของคืนวันที่ 31 ตุลาคม กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป่านกหวีดเรียกระดมมวลชนออกมาต่อต้านการนิรโทษกรรมคนทุจริตที่ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกเคยทำมาก่อน

              มวลชนกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณแปรสภาพเป็น "แม่น้ำร้อยสาย" ที่กำลังไหลบ่าทะลักล้น เพื่อภารกิจเดียวกัน คือ การต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ-นิติธรรม และวางเป้าหมายไกลไปถึงการโค่นล้มรัฐบาลสายตรงจากดูไบ !!!

              แหล่งข่าวความมั่นคงระดับสูงวิเคราะห์ว่า ม็อบต่อต้านทักษิณครั้งนี้ถือว่า จุดติด และมีพลังค่อนข้างสูง เพราะมีคนระดับ "ปัญญาชน" และ "คนชั้นกลาง" ในเมืองหลวงเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องหวั่นไหวไม่น้อย เพราะไม่ใช่กลุ่มม็อบจัดตั้งขาประจำตามปกติ แต่มาด้วยเงื่อนไขที่สุกงอมแล้วจริงๆ

              ทั้งนี้ เงื่อนไขทางการเมืองที่ผ่านมามีการสั่งสมความไม่พอใจของประชาชนมาโดยตลอด ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท, โครงการในการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และที่แรงที่สุด คือ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ที่ทำให้ประชาชนทนไม่ไหว ต้องออกมาแสดงพลังกัน

              "รัฐบาลอ้างเอาความปรองดองมาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มตน ประกอบกับการเลือกปฏิบัติ เช่น เกษตรกรที่ไม่ได้เป็นพวกของรัฐบาลจะไม่ได้รับการดูแล เช่น กรณีชาวสวนยาง เป็นต้น ส่วนเกษตรกรกลุ่มของรัฐบาลจะได้รับการสนับสนุน ปัญหาตรงนี้จะนำไปสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อ และการสร้างค่านิยมใหม่ของคนในประเทศ"

              ค่านิยมใหม่ในความหมายของเขา คือ ค่านิยมเดิมที่เคยยึดถือกัน เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความไว้วางใจ การช่วยเหลือเกื้อกูล และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ถือเป็นค่านิยมหลักของคนไทย กำลังจะถูกแทนที่ค่านิยมแบบใหม่ คือ เมื่อได้อำนาจมาก็จะเอาอำนาจนั้นเพื่อดำเนินการตามที่ใจต้องการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กลายเป็นสังคมที่ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" เต็มรูปแบบ

              "ลักษณะสภาพสังคมแบบนี้จะนำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงในทางการเมือง เพราะต่างคนต่างจะไม่รอมชอมกัน ฝ่ายค้านก็จะไม่รอมชอมกับฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายรัฐบาลก็จะทำทุกสิ่งทุกอย่างไม่คำนึงถึงฝ่ายค้าน" เขากล่าวด้วยความหวั่นใจ

              นอกจากนี้ องค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ดำเนินการล่าช้า ไม่เท่าทันกับการดำเนินการ และความต้องการของฝ่ายการเมือง ทำให้บรรยากาศความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

              จุดนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง อาจมีการลอบการสังหาร หรือการก่อการวินาศกรรม เพื่อตอบโต้มากขึ้น และที่สำคัญคือ ราชการจะมีความแตกแยกมากขึ้น เพราะกลายเป็นว่า วันนี้เครื่องมือของรัฐบาลคือตำรวจ และฝ่ายทหารถอยกลับไปอยู่ในจุดเดิม คือ ถอยกลับไปอยู่กรมกอง

              โดยเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากับเหตุการณ์บ้านเมือง ยังถอยกรูด ประกาศขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และอยากให้การเมืองแก้ไขด้วยการเมืองกันเอง ซึ่งการถอยของทหารในลักษณะแบบนี้จะทำให้ประชาชนไม่รู้สึกคาดหวังกับทหารอีกต่อไป

              "เมื่อประชาชนไม่คาดหวัง ประชาชนก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้เอง ลักษณะของการต่อสู้ของภาคประชาชนจะมีมากขึ้น อาจจะนำไปสู่สงครามทางการเมืองได้ แต่คงจะเกิดขึ้นในบางจุดเท่านั้น เช่น ในเมืองใหญ่ ในอนาคตกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ประชาชนจะโจมตีมากขึ้น และรัฐบาลก็จะสูญเสียอำนาจในที่สุด"

              ขณะที่ทหารจะกลายสภาพเป็นเพียง "ผู้ดู" เพราะการที่มีการสร้างเงื่อนไขรับประกันให้ "ผู้นำกองทัพ" ไม่ถูกโยกย้าย กลายเป็นเรื่องของ "บุญคุณต้องทดแทน" จึงต้องทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ และพยายามพูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่า กระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องของรัฐบาล ทหารมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายรัฐบาลเท่านั้น

              "ทหารเริ่มเปลี่ยนบทบาทจากสถาบันที่เป็นที่พึ่งของประชาชน กลายเป็นเพียงข้าราชการทหารเหมือนกับราชการอื่นๆ ทหารจะใช้วิกฤติมาทำการปฏิวัติในระยะเวลานี้คงเป็นไปไม่ได้ ถ้ากองทัพยิ่งนิ่งเฉยอยู่แบบนี้ จะทำให้กองทัพไม่มีโอกาสพลิกฟื้นขึ้นมาได้ มีแต่ล้มเหลว เพราะกองทัพไม่เคยแสดงผลงานให้ประจักษ์ ประชาชนไม่ได้คาดหวังอะไรกับกองทัพอีกต่อไป" แหล่งข่าวในกองทัพ วิพากษ์กันเองอย่างถึงกึ๋น

              สภาวะที่ประชาชนเลิกคิดที่จะพึ่งกองทัพ และมองว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป จะทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตัวเอง ขณะนี้เพียงรอคอยเวลา และสถานการณ์เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทางการเมืองไทยไม่มีทางออก ซึ่งคงต้องรอความหวังจากศาลธรรมนูญ ที่จะชี้ขาดในเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่น่าจะขัดหลักการ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

              เขาเชื่อว่า หากศาลชี้ว่า กระบวนการตรากฎหมาย หรือตัวหลักการของกฎหมาย "ขัดรัฐธรรมนูญ" ก็น่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้มาก อีกทางหนึ่ง คือ รัฐบาลจะลดความขัดแย้งด้วยการ "ยุบสภา" เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็น่าจะพอบรรเทาสถานการณ์ความขัดแย้งลงไปได้บ้าง

              "ผมเชื่อว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้ได้เตรียมการไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสร็จสมบูรณ์แล้ว และต้องจับตาบทบาท กกต.ชุดนี้ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร อาจจะนำประเทศไปสู่ทางออกก็ได้ หรืออาจพาประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น" แหล่งข่าวในกองทัพคนเดิม กล่าวทิ้งท้าย

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์