ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในวาระที่ 2 ซึ่งมีจำนวน 4 มาตรา โดยในเวลา 14.10 น. ซึ่งเริ่มเข้าสู่มาตรา 3 เกี่ยวกับการกำหนดประเภทหนังสือสัญญาจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยนายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าการที่กรรมาธิการ เสียงข้างมากแก้ไขมาตรา 190 ให้เหลือเพียงหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าหรือการลงทุน ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานั้น ตนขอเสนอว่า นอกจากเรื่องเขตแดนเปิดเสรีด้านการค้า การลงทุน แล้วต้องเพิ่มว่าหากหนังสือสัญญาดังกล่าวมีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้ม ครอง หรือการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาด้วย
นายสรรเสริญ กล่าวต่อว่า การเปิดเสรีการค้า การลงทุน นั้นอาจจะกระทบต่อด้านธุรกิจและเกษตรกรบางส่วนเท่านั้น
แต่เรื่องพลังงานกระทบกับประชาชนทุกคน อีกทั้งตนยังกังวลถึงแหล่งพลังงานพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทย และกัมพูชาที่ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ เพราะมีมูลค่ามหาศาล เนื่องจากธนาคารโลกประเมินว่าพื้นที่ 2.6 หมื่นตารางกม.มีน้ำมันถึง 2 พันล้านบาร์เรล มีแก๊สธรรมชาติถึง 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มีมูลค่ารวมถึง 5 ล้านล้านบาท จึงต้องการให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนทุกคน ไม่ใช่ตกอยู่กับนักธุรกิจคนใดคนหนึ่ง
“การแก้มาตรา 190 จะทำให้การอนุมัติการแบ่งพื้นที่ผลประโยชน์ทับซ้อนไปอยู่ที่ ครม.ทั้งหมด ต่อไปกังวลว่าจะมีนักธุรกิจบางคนจูงใจให้รัฐบาลไทยเสียเปรียบกัมพูชา เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัวกับทางกัมพูชา จะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ถือว่าโกงชาติ เพราะทำธุรกิจพลังงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและครอบครัว” นายสรรเสริญ กล่าว
นอกจากนี้ นายสรรเสริญ ยังได้นำการให้สัมภาษณ์ของนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และไม่สนใจจะลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยนายสรรเสริญ ระบุว่า คำพูดของนายนพดลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยให้สัมภาษณ์ว่า สนใจทำธุรกิจเหมืองทอง เหมืองเพชร น้ำมัน และแก๊ส และตอนนี้กำลังจะได้สัมปทาน
โดยนายสรรเสริญได้นำคลิปที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูบเมื่อวันที่ 26 ม.ค.56 ที่ทางสำนักข่าวว๊อยซ์ ทีวีสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ มาเปิดในห้องประชุม พร้อมนำข่าวหนังสือพิมพ์ที่ระบุว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ โพสต์ เฟซบุ๊คคุยนายกฯ อิรัก จ่อดึง ปตท.ร่วมขยายกำลังการผลิตน้ำมัน” และข่าว “พล.อ.เตีย บัณห์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กัมพูชาเผยทักษิณเคยสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงาน” มาแสดงต่อที่ประชุมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายสรรเสริญ อภิปราย ได้มีการพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย ทยอยลุกขึ้นประท้วงเป็นระยะ ๆ ว่าเป็นการพูดพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 และข่าวที่นายสรรเสริญนำมาอ้างอิงนั้น ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.นายสาธิต ปิตุเตชะ สส..ระยอง ลุกขึ้นประท้วงและยืนยันว่า นายสรรเสริญนำคำสัมภาษณ์ดังกล่าวมาแสดง เป็นการแสดงความเห็นของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง ดังนั้นย่อมสามารถทำได้
ทำให้ ส.ส.ทั้ง 2 พรรคโต้ตอบกันไปมา โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พยายามไกล่เกลี่ยว่าต้องมีการพิสูจน์ก่อนว่าข่าวที่นำมาเสนอนั้น
พ.ต.ท.ทักษิณ พูดจริงหรือไม่ แต่ทั้ง 2 ฝ่ายยังคงโต้เถียงจน นางสุนีย์ เหลืองวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเสนอญัตติปิดอภิปรายในมาตรา 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.ที่สงวนคำแปรญัตติไว้ ทำให้นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ลุกขึ้นขอหารือว่า ก่อนที่จะมีการลงมติ ขอให้ ส.ว.ได้มีการอภิปรายบ้าง เพราะยังมี ส.ว.ที่สงวนคำแปรญัตติถึง 23 คน ดังนั้นเพื่อให้เป็นการผ่อนคลายบรรยากาศขอให้สลับให้ ส.ว.อภิปรายบ้าง ส่งผลให้นายสมศักดิ์ ตัดสินพักการประชุม 10 นาที ในเวลา 17.10 น.
จากนั้นการประชุมเปิดขึ้นอีกครั้งในเวลา 17.30 น. ซึ่งส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว. ยังคงยืนยันที่จะอภิปรายต่อ ในมาตรา 3 ท้ายที่สุด นางสุนีย์ เหลืองวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นถอนญัตติ โดยมีเงื่อนไข ขอให้ประธานคุมการอภิปรายให้อยู่ในประเด็น จากนั้นการอภิปรายก็เริ่้มต่อไป