น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนตรวจพบหลักฐานการรายงานผลประกอบการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) ในปี 2556 โดยนายธงรบ ด่านอำไพ กรรมการและรักษาการผู้จัดการไอแบงก์ ได้เสนอข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการไอแบงก์
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มีการกำกับดูแลโดยใช้ทัศนคติที่ผิดพลาด ไม่ได้ใช้เหตุผลหรือข้อเท็จจริงในการกำกับดูแล และมีการแทรกแซงการดำเนินธุรกรรมของธนาคารหลายอย่าง นอกจากนั้นยังมีการตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นที่ปรึกษา และได้ทำการอนุมัติสินเชื่อ จนทำให้เกิดปัญหา ซึ่งตนจะนำหลักฐานชิ้นนี้ยื่นต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
เพื่อให้มีการตรวจสอบต่อไป พร้อมทั้งจะยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการถอดถอน นายกิตติรัตน์ และขอเรียกร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาทำหน้าที่ รมว.คลังแทน
โดย น.ส.มัลลิกา ได้นำหนังสือลาออกจากกรรมการไอแบ๊งก์ และ รักษาการผู้จัดการไอแบงก์ ของนายธงรบ ลงวัน 1 ต.ค. 2556 ซึ่งมีเนื้อหาแฉถึงความล้มเหลวการบริหารของธนาคารฯอย่างละเอียด มาประกอบการแถลงข่าว โดยในเอกสารดังกล่าวระบุว่าในปลายปี 2555 ธนาคารได้ประสบปัญหาหนี้เน่าจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 2556 เดือน ม.ค.-มิ.ย. หนี้เน่าเพิ่มถึง 1.8 หมื่นล้าน
ภายในเวลาเพียงแค่ 8 เดือน ทำให้ยอดหนี้เพิ่มเป็น 4.2 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารได้แก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้มากกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท
แต่ก็ประสบปัญหาการถอนเงินออกจากธนาคารอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2555 จนถึงจุดต่ำสุดในเดือนมิ.ย. เหลือเงินฝากในธนาคารไม่ถึง 5 พันล้านบาท มีเงินหมุนเวียนในแต่ละวันไม่ถึง 6 พันล้านบาท แต่ในเดือน ก.ค.-ก.ย.56 ผลประกอบการกลับฟื้นขึ้นมา ทำให้มีเงินสดมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ถือว่าอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ในเอกสาร นายธงรบ ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ทำให้ธนาคารประสบปัญหาโดยละเอียด จนทำให้สถานการณ์ของไอแบ๊งก์ ในช่วงเดือน มิ.ย.ถึงจุดต่ำสุด
ทำให้พนักงานกว่า 1,400 คน เข้าชื่อทำหนังสือร้องเรียนเพื่อให้มีการสอบสวนผู้บริหารของธนาคารรายหนึ่ง แต่นายกิตติรัตน์กลับปกป้อง โดยสั่งให้ตนชะลอและสั่งยุติการสอบสวน อีกทั้งการดำเนินการของธนาคาร ยังไม่ได้บริหารตามวัตถุประสงค์ของการตั้งธนาคารอิสลาม ที่เน้นร่วมลงทุนและแบ่งกำไรอย่างยุติธรรม แต่กลับดำเนินการในรูปแบบเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ทำให้ชาวมุสลิมขาดความเชื่อถือ
ส่งผลให้มีการใช้ชาวมุสลิมใช้บริการเพียง 10 % ของลูกค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ขาดทุนจนต้องเพิ่มทุนทุก 3 ปี และ 5 ปี เพราะไม่มีศักยภาพมากพอที่จะไปแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ได้ ในเอกสารยังได้โจมตีการกำกับดูแลของนายกิตติรัตน์ ว่ามีทัศนคติที่ผิดพลาด แทรกแซงการดำเนินธุรกรรม โดยไม่ใช้เหตุผลข้อเท็จจริงในการกำกับดูแล อาศัยความเชื่อและคำบอกเล่าในการตัดสินใจ ทำให้ธนาคารต้องกลับมามีปัญหาอีกครั้ง