ตระกูลการเมืองไทยยึดเวทีรั้งอันดับโลก

เผยผลการศึกษาตระกูลการเมืองไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศไทยพบ ยึดครองพื้นที่ทางการเมืองสูงกว่าประเทศอื่น

ผลการศึกษาเรื่อง “ตระกูลการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก” โดย สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า พบว่า ตระกูลการเมืองในประเทศไทยมีสัดส่วนการยึดครองพื้นที่ทางการเมืองสูงกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

จากการศึกษาเปรียบเทียบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง วันที่ 3 ก.ค. 2554 ที่มีคนในตระกูลเดียวกันเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน และเปรียบเทียบกับประเทศอื่น จะพบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 42% ตามด้วยเม็กซิโก 40% ฟิลิปปินส์ 37% ญี่ปุ่น 33% อาร์เจนตินา 10% และสหรัฐอเมริกา 6%

ผลวิจัยได้ยกตัวอย่างตระกูลการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการรักษาสืบทอดและแผ่ขยายอาณาจักรทางการเมืองช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา
 
ได้แก่ “ตระกูลชินวัตร” ที่มีการวางรากฐานทางการเมืองมาตั้งแต่สมัย เลิศ ชินวัตร อดีต สส.เชียงใหม่ ปี 2512 และส่งต่อความสำเร็จมายัง สุรพันธ์ ชินวัตร น้องชายของเลิศ อดีต สส.เชียงใหม่ 4 สมัย (ปี 2522, 2526, 2529, 2531) ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามารื้อฟื้น สานต่อและแผ่ขยายอิทธิพลของตระกูล จนมีสมาชิกของตระกูลก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ) และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


ตระกูลการเมืองไทยยึดเวทีรั้งอันดับโลก

นอกจากนี้ สมาชิกตระกูลชินวัตรยังประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง สส.มาอย่างต่อเนื่อง
 
ตั้งแต่ปี 2544 อีกหลายคน อาทิ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และ ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ตระกูลแยกเป็นรายพรรค จะพบว่า “พรรคเพื่อไทย” เป็นพรรคที่มีตระกูลการเมืองได้รับเลือกตั้งเข้ามากที่สุด 19 ตระกูล รองลงมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 17 ตระกูล พรรคภูมิใจไทย 4 ตระกูล พรรคชาติไทยพัฒนา 3 ตระกูล พรรคพลังชล 1 ตระกูล พรรครักประเทศไทย 1 ตระกูล

หากพิจารณาในแง่สัดส่วน จะพบว่า “พรรคชาติไทยพัฒนา”

มีสัดส่วนของ สส.ที่มีคนในตระกูลเดียวกันได้รับเลือกต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสูงที่สุด หรือคิดเป็น 31.6% รองลงมาเป็นพรรคพลังชล 28.6% พรรครักประเทศไทย 25% พรรคประชาธิปัตย์ 22% พรรคภูมิใจไทย 17.6% และพรรคเพื่อไทย 15.1%

ผลการวิจัยยังระบุอีกว่า ความยากลำบากในการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของนักการเมืองรุ่นลูก
 
และความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งของตระกูลนักการเมืองใหญ่บางตระกูล เช่น ตระกูลขจรประศาสน์ และตระกูลอังกินันท์ ในการเลือกตั้งปี 2548 ตระกูลคุณปลื้มในการเลือกตั้งปี 2550 ตระกูลฉายแสง และตระกูลตันเจริญในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่ง เริ่มตั้งคำถามกับอิทธิพลและบทบาทของตระกูลการเมืองเก่าๆ ที่มีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้ง

ดังนั้น ภาพการกำกับและควบคุมพรรคการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จของตระกูลนักการเมืองในพรรคการเมืองใหญ่หลายพรรค
 
เช่น ตระกูลชินวัตรในพรรคเพื่อไทย ตระกูลศิลปอาชาในพรรคชาติไทยพัฒนา ตระกูลชิดชอบในพรรคภูมิใจไทย หรือแม้แต่ตระกูลคุณปลื้มในพรรคที่เกิดใหม่อย่างพรรคพลังชล จึงเป็นภาพสะท้อนของความต่อเนื่องในบทบาทและอิทธิพลที่ตระกูลนักการเมืองใหญ่มีต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย

ยิ่งไปกว่านั้น การปรากฏตัวของนักการเมืองหน้าใหม่ที่เป็นลูกหลานในตระกูลนักการเมืองสำคัญในพื้นที่
 
ซึ่งมิได้อยู่ภายใต้อิทธิพลแบบอุปถัมภ์ของตระกูลโดยตรง แต่เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคการเมืองบางพรรคมีฐานเสียงหนาแน่น เช่น กรณีของผู้สมัครนามสกุลเทียนทอง นามสกุลบรรทัดฐาน และนามสกุลพร้อมพันธุ์ ในสนามเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ได้ช่วยตอกย้ำว่าอิทธิพลและบทบาทของตระกูลนักการเมืองมิได้ลดลงหรืออาจจะเพิ่มขึ้น หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบที่ซ้ำซ้อนมากกว่าในอดีตเสียอีก

ที่สำคัญผลการศึกษายังพบด้วยว่า นักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูลที่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน
 
น่าจะมีสัดส่วนสูงกว่านักการเมืองที่ไม่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูล เพราะนักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูล สามารถอาศัยความได้เปรียบต่างๆ เป็นสะพานเชื่อมได้ทันที และสิ่งที่ต้องติดตามคือ สายสัมพันธ์ระหว่างตระกูล อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง


ตระกูลการเมืองไทยยึดเวทีรั้งอันดับโลก


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์