ยิ่งลักษณ์ ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 16 ที่บรูไน

ภาพจาก มติชนภาพจาก มติชน


วันนี้ (9 ตุลาคม 2556) เวลา 15.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 16 ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไน ดารุสซาลามโดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนประธานการประชุม เชิญนายกรัฐมนตรีในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน–จีน กล่าวต่อที่ประชุม ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลจีนชุดใหม่เมื่อต้นปี ทั้งนี้ ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพลวัตรและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียน โดยจีนและอาเซียนเป็นหุ้นส่วนที่ยึดโยงกันด้วยอนาคตร่วมกัน อาเซียนและจีนยึดถือในหลักการการเดียวกัน คือ เป็นเพื่อบ้านที่ดี เคารพซึ่งกันและกัน และสนับสนุนกัน ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ควรที่จะแปลงข้อริเริ่มต่างๆไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และยกย่องให้เป็น “ทศวรรษแห่งเพชร” (Diamond Decade) ตามที่นายกรัฐมนตรีจีนได้เคยเสนอไว้ เพื่อให้การเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนและจีนขับเคลื่อนต่อไป นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังนี้
 
 
ประการแรก ต้องใช้ความเป็นหุ้นส่วนอาเซียนและจีน เป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อการเติบโตที่ทั่วถึงและมีพลวัตร เพื่อความรุ่งเรืองร่วมกัน โดยอาเซียนสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนในการยกระดับ ความตกลงเขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า และลดอุปสรรคต่างๆ ในการนี้ อาเซียนเสนอให้ ความเชื่อมโยง เป็นสาขาสำคัญเร่งด่วนของความร่วมมือภายใต้กรอบการดำเนินการอาเซียน – จีน แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จะต้องทั่วถึงด้วย ดังนั้น จึงต้องแสวงหาความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้ง อาเซียนและจีนจะต้องร่วมกันสะท้อนเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันในวาระการพัฒนาภายหลังปี 2015 ประการที่สอง ความเป็นหุ้นส่วนอาเซียนและจีนต้องเป็นที่ยึดเหนี่ยวของสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

ทั้งนี้ อาเซียนชื่นชมการสนับสนุนของจีนเพื่อการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการจัดการระดับภูมิภาค และเหนือส่งอื่นใด อาเซียนและจีน ต่างแบ่งปันเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการรักษาไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมระดับภูมิภาคที่สันติ บนพื้นฐานการไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้การพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ ประการที่สาม อาเซียนและจีนต้องบริหารจัดการความแตกต่าง ซึ่งเหมือนกับหลายๆความสัมพันธ์ที่มีความแตกต่างเสมอ แต่จุดแข็งของความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน – จีน คือ การบริหารจัดการความแตกต่างทั้งหลาย เพื่อให้ความสัมพันธ์เดินไปข้างหน้า ซึ่งหลักการนี้ประยุกต์ใช้กับประเด็นทะเลจีนใต้ ซึ่งในการประชุมปีที่แล้ว อาเซียนและจีนได้ออกแถลงการณ์ร่วมในโอกาสครบรอบ 10 ปีของ DOC และมีพัฒนาการเพราะต่างตระหนักดีถึงประโยชน์ร่วมกันในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้
 
ทั้งนี้ ในทศวรรษที่สองของ DOC ต้องส่งเสริมการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพของ DOC รวมทั้ง ความก้าวหน้าในการเจรจาจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ COC ซึ่งผลของการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งแรกในการประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้วมีความคืบหน้าที่น่ายินดี และเป็นก้าวสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง ดังนั้น อาเซียนและจีนต้องให้เจ้าหน้าที่ได้ใช้ความพยายามในการรักษาแรงขับเคลื่อนของกระบวนการ COC ต่อไปควบคู่ไปกับการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล โดยเห็นว่า COC ต้องช่วยเสริมสร้างการไว้เนื้อเชื่อใจกัน ป้องกันกรณีที่จะเกิดขึ้นทางทะเล บริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาข้อพิพาท ประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียน – จีน รู้สึกรับผิดชอบอย่างยิ่งต่อการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ และจะดำเนินการให้ดีที่สุดเพื่อความส่งเสริมการหารือสนทนาและความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในแนวทางที่สร้างสรรค์และสมดุลย์

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์