เปิดคำฟ้อง ก๊วนหญิงอ้อ โกงภาษีหุ้นชินฯ

ในที่สุด ศาลอาญารัชดาภิเษก ก็ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องใน


คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกอีก 2 คนคือ

นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม และ
นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน

ในความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีการโอนหุ้น บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท

โดยเมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา


คุณหญิงพจมาน ชินวัตร พร้อมด้วย นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ได้เดินทางมาที่ศาลอาญารัชดาภิเษก เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนประมาณ 20 คน

นำโดย นางดารณี กฤตบุญญาลัย ไฮโซชื่อดัง มาถือป้ายแสดงข้อความให้กำลังใจ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยและดูแลความสงบเรียบร้อยของกำลังตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวนกว่า 100 นาย

นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ


ได้นำคำฟ้องจำนวน 12 หน้ามายื่นฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งคำฟ้องได้ลงนาม นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายบรรณพจน์ อายุ 58 ปี อดีตประธานกรรมการบริหารชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณหญิงพจมาน อายุ 50 ปี และนางกาญจนาภา อายุ 50 ปี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3

ในความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบาย


ตามประมวลรัษฎากร ม.37 (2) และร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ โดยจงใจเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร ม.37 (1) ประกอบ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2502 ม.14 และพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ ป.รัษฎากร พ.ศ. 2481 ม.2, 3 และประมวลกฎหมายอาญา ม.83, 91 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2526 ม.4

ตามคำฟ้องสรุปว่า


เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 40 พวกจำเลยได้ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยใช้อุบายว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

สั่งขายหุ้นบริษัทดังกล่าวของจำเลยที่ 2

ซึ่งมีชื่อของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดีหรือประมูลเรือง สาวรับใช้เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน ถือการครอบครองแทนจำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 164 บาท รวมมูลค่า 738 ล้านบาท ให้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติของจำเลยที่ 2

และเป็นพนักงานบริษัทชินวัตรฯ

โดยผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในชื่อของ น.ส.ดวงตา ที่เปิดบัญชีไว้ที่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด หรือ บริษัทหลักทรัพท์เมอร์ริน ลินซ์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นโบรกเกอร์ใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ผ่านบริษัทตัวแทนนายหน้า จำเลยที่ 1 และ 2 จะต้องเสียค่านายหน้า และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทตัวแทนนายหน้า ฝ่ายละ 3.69 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,380,000 บาท

ต่อมาวันที่ 11 พ.ย.40


จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็ค ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน เลขที่ 1570204 ลงวันที่ 12 พ.ย. 40 จำนวน 741,690,000 บาท จากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเดียวกัน เลขที่ 800-0-05617-2 ชำระค่าหุ้นให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ภัทรฯ

แล้วบริษัทดังกล่าวได้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารไทย พาณิชย์ สาขาวิทยุ

เลขที่ 8978214 ลงวันที่ 12 พ.ย.40 สั่งจ่ายเงิน 734,310,000 ล้านบาท เป็นเงินค่าหุ้น ภายหลังหักค่าตัวแทนนายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ น.ส.ดวงตา ซึ่งเป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน

ต่อมาจำเลยที่ 2 และ 3 ได้ร่วมกันนำเช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุชื่อ น.ส.ดวงตา

ฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯ สาขารัชโยธิน เลขที่ 800-0-05616-4 เพื่อเรียกเก็บเงิน ในวันที่ 12 พ.ย.40

การกระทำของจำเลยดังกล่าว


เป็นการร่วมกันแสดงเจตนาลวงว่าได้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน ตลท. ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์ที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ ใน ตลท. มารวมคำนวณเงินได้พึงประเมิน เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือ ภงด.ตามในกฎกระทรวงฉบับที่ 126 พ.ศ.2509 ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (23)

ความจริงแล้ว


จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขาย หุ้นดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เป็นการโอนหุ้นให้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติของจำเลยที่ 2

ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเลขาฯส่วนตัวของจำเลยที่ 2

จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำอุบายโอนหุ้นดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ให้แก่ น.ส.ดวงตา เป็นผู้ถือครองแทนและดำเนินการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในนามของ น.ส.ดวงตา แล้วร่วมกันทำทีเป็นว่า ซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน บริษัทตัวแทนนายหน้าดังกล่าว

และจำเลยที่ 2 เจ้าของหลักทรัพย์เป็นผู้ชำระราคา

และรับราคาค่าหลักทรัพย์ไว้เอง โดยยินยอมจ่ายค่าตัวแทนนายหน้า เพื่อแสดงว่าเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ใน ตลท.

ทั้งนี้เพื่อที่มิต้องนำเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวมาคำนวณภาษี ภงด.


การกระทำดังกล่าวเป็นการอำพรางการให้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้รับการให้จะต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์คือหุ้นบริษัทดังกล่าวมูลค่า 4.5 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 164 บาท มูลค่าประมาณ 738 ล้านบาทมาคำนวณเป็นรายได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี ภงด. ประจำปี 2540 จำนวนเงิน 273 ล้านบาท

ต่อมาวันที่ 30 มี.ค.41


จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบ ภงด.90 ประจำปี 2540 พร้อมกับ นางบุษบา ดามาพงศ์ ภรรยาต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรว่า ในปี 2540 จำเลยที่ 1 มีเงินได้จากการจ้างแรงงานและจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานและมีเงินได้เป็นเงินปันผล เครดิตเงินปันผลรวมเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษีเป็นเงินเพียง 23,318,411.53 บาท อัตราภาษีร้อยละ 37 รวมภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเป็นเงิน 8,192,812.27 บาท

โดยมิได้นำค่าหุ้นดังกล่าว

ซึ่งเป็นทรัพย์สินหรือเงินได้จำนวน 738 ล้านบาท มาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี ภงด. ทั้งที่พวกจำเลยรู้อยู่แล้วว่า ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้รับโอนหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ จากจำเลยที่ 2 จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท จะต้องเสียภาษี ภงด.จำนวน 273,060,000 บาทด้วย

การกระทำของจำเลยดังกล่าว


เป็นการร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย หรือโดยวิธีอื่นใด เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่ง ป.รัษฎากร ทำให้รัฐเสียหายขาดรายได้จากภาษี ภงด.ที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษีในปี 2540 คิดเป็นเงิน 273,060,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงลาดยาว เขตจตุจักร แขวง-เขตห้วยขวาง และแขวง-เขตบางพลัด กท. ต่อเนื่องกัน

ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ 18 พ.ค.-30 ส.ค. 44


จำเลยที่ 1 และ 2 โดยรู้อยู่แล้ว จงใจ ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบ คำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรต่อ นาย ช.นันท์ เพ็ชญไพศิษฎ์ และนางเบญจา หลุยเจริญ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีกรมสรรพากร

โดยจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำและตอบคำถาม เมื่อวันที่ 18 พ.ค.44 มีสาระสำคัญว่า

การซื้อหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.40 จำนวน 4.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 164 บาท จำนวนเงินรวม 738 ล้านบาท เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้ โดยโอนหุ้นให้บุคคลอื่นถือแทนใน ตลท.และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายเงินซื้อ

และให้ถ้อยคำเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 16 ก.ค.44 มีสาระสำคัญว่า


เป็นพี่ชายบุญธรรมของ จำเลยที่ 2 ช่วยเหลือกิจการงานของจำเลยที่ 2 จนมีความเจริญก้าวหน้า จนกระทั่งเมื่อปี 2538 จำเลยที่ 2 สนับสนุนให้มีครอบครัวเพื่อความปึกแผ่น และปลายปี 2540

จำเลยที่ 2 ดำริจะมอบของขวัญให้แก่บุตรชายของจำเลยที่ 1

ซึ่งมีอายุครบ 1 ปี เป็นหุ้น ซึ่งถือเป็นของขวัญแก่ครอบครัว จึงได้มอบหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นเป็นของขวัญแก่ครอบครัวและบุตรชาย โดยไม่ต้องทำสิ่งใดเป็นการตอบแทน และมิได้มีข้อผูกพันหรือสัญญาที่ต้องทำเป็นการตอบแทน

จึงเข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นการให้โดยเสน่หาตามธรรมเนียมประเพณี

และธรรมจรรยาของสังคมไทย ที่ได้รับการยกเว้นตาม ม.42 (10) แห่ง ป.รัษฎากร

ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำ เมื่อวันที่ 30 ก.ค.44 มีสาระสำคัญว่า


จำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของบิดา ซึ่งได้อุปการะเลี้ยงดูส่งเสียให้การศึกษา จำเลยที่ 1 เข้ามาช่วยเหลือช่วยบริหารจัดการธุรกิจของครอบครัว ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนมีความมั่นคงและมีทรัพย์สินจำนวนมาก

เห็นว่า จำเลยที่ 1 ควรมีครอบครัว

จึงสนับสนุนให้แต่งงานกับ น.ส.บุษบา วันสุนิล เมื่อต้นปี 2539 ให้ปลูกสร้างเรือนหอในที่ดินของครอบครัวดามาพงศ์ เมื่อมีครอบครัวควรมีทรัพย์สินมั่นคง

จึงตั้งใจที่จะมอบหุ้นให้จำนวนหนึ่งในวันแต่งงาน

เพื่อให้พี่น้องมีฐานะทัดเทียมกัน แต่มอบให้ไม่ทัน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เตรียมเข้าทำงานทางการเมือง จำเป็นต้องจัดการเรื่องบริหารงานให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

เมื่อจำเลยที่ 1 มีบุตรชายจะมีอายุครบ 1 ปี


การดำเนินการต่างๆ ด้านบริหารจัดการเสร็จสิ้นลง จึงยกหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ 7 พ.ย. 40 เป็นของขวัญ

โดยเห็นว่าอยู่ในฐานะและวิสัยที่พึงให้แก่บุคคลในครอบครัวได้

เนื่องจากจำเลยที่ 2 และครอบครัวมีทรัพย์สินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนหุ้นที่โอนเป็นหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่ให้ น.ส.ดวงตา เป็นผู้ถือหุ้นแทนและอยู่ในพอร์ทที่ทำการซื้อขายใน ตลท.

โดยจำเลยที่ 1-2 รู้อยู่แล้วว่า


ข้อความที่ตอบถ้อยคำนั้นเป็นข้อความเท็จ เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรเชื่อว่าการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือในโอกาสตามขนบธรรมเนียมประเพณี

ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องคำนวณ ภงด.บุคคลธรรมดา

ทั้งที่ความจริงแล้วการให้นั้น เพื่อเป็นการตอบแทนจำเลยที่ 1 ทำงานให้ครอบครัวของจำเลยที่ 2 แต่ทำอุบายอำพรางว่าเป็นการซื้อขายในตลท. ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับการให้ จะต้องนำหุ้นบริษัทดังกล่าวจำนวน 4.5 ล้านหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท มาแสดงเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษี

ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1-2

จึงเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี โดยให้ถ้อยคำเท็จและโดยการฉ้อโกง เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายได้เงินภาษีอากร และเงินเพิ่มจำนวน 546,120,000 บาท

โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)


ตรวจสอบมูลคดีแล้ว ต่อมาวันที่ 5 ม.ค.50 คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ คตส.จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทั้ง 3 ทราบโดยชอบแล้ว และในการชี้แจงจำเลยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ

คตส.พิจารณาไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีมติว่า

จำเลยทั้ง 3 กระทำผิดตามข้อกล่าวหา แต่เป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย

ศาลประทับรับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำที่ อ.1149/2550


และสอบคำให้การจำเลยทั้งสามในเบื้องต้น โดยจำเลยทั้งสามยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลนัดคู่ความตรวจสอบพยานหลักฐานในวันที่ 14 พ.ค. นี้ เวลา 13.30 น.

ต่อมาญาติและบุคคลใกล้ชิดของพวกจำเลยทั้งสาม


ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน จำนวนคนละ 6 ล้านบาทขอประกันตัว ศาลได้พิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสามแล้ว อนุมัติให้ประกันตัวในวงเงินคนละ 5 ล้านบาท.


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์