จุฬาฯ ยันปลาตายยกกระชัง ไม่ได้ติดเชื้อ

จุฬาฯยันปลาตายยกกระชังไม่ได้ติดเชื้อ


คณะสัตวแพทย์จุฬาฯลงพื้นที่สำรวจปลาบริเวณวัดพุทไธสวรรค์ วัดกษัตราธิราชวรวิหาร และวัดโคกหิรัญ อ.บางบาล จ.อยุธยาพบค่าออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน เสนอให้นำเรือหางยาวออกวิ่งไปมาในลำน้ำเพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจน

ตรวจสอบเบื้องต้นคาดปลาที่ตายไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เหตุตายแบบเฉียบพลันและมีจำนวนปริมาณมาก ชี้หน้าที่กรมประมงตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยรวม


จากกรณีมีปลาตายเป็นจำนวนมากในแม่น้ำเจ้าพระยา


ตั้งแต่จ.อ่างทอง จนถึงจ.อยุธยา รศ.นสพ.ดร.จิรศักดิ์ ตั้งตรงไพโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและอาจารย์พิเศษคณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าทางคณะได้ลงพื้นที่สำรวจปลาบริเวณวัดพุทไธสวรรค์ วัดกษัตราธิราชวรวิหาร และวัดโคกหิรัญ อ.บางบาล จ.อยุธยา

พบว่า ปลาที่ตายในบริเวณดังกล่าวที่เหงือกมีรอยช้ำ เนื่องจากขาดออกซิเจน และพบว่าน้ำบริเวณดังกล่าวขาดออกซิเจนจนมีสภาพเป็นสีเขียว และพบมีสารอินทรีย์เข้มข้นปนอยู่ในน้ำจนออกซิเจนในน้ำเหลือเพียง 0.1 PPM ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ปลาจะอาศัยอยู่ได้ที่ 4-5 PPM รวมทั้งมีเชื้อแบคทีเรีย แพลงตอนในน้ำเป็นจำนวนมาก

แต่สาเหตุที่ทำให้น้ำขาดออกซิเจนมาจากหลายสาเหตุ ทั้งมีสารอินทรีย์ในน้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพน้ำนิ่งทำให้การไหลเวียนของน้ำไม่ดี ดังนั้น ในเบื้องต้นอยากเสนอให้นำเรือหางยาวออกวิ่งไปมาในลำน้ำเพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจนให้มากขึ้น


รศ.นสพ.ดร.จิรศักดิ์ กล่าวอีกว่า


ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้ส่งทีมสัตวแพทย์ลงพื้นที่บริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา มากลับทำการทดสอบโดยละเอียด ทั้งเก็บเลือดและซากปลากลับมาพิสูจน์หาสารปนเปื้อนที่เป็นเหตุการปลายตายนับล้านตัวครั้งนี้

รศ.สพญ.ดร.เจนนุช ว่องธวัชชัย รองคณบดีฝ่ายวิจัย และบริหารวิชาการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าปลาที่ตายไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เพราะเป็นการตายแบบเฉียบพลันและมีจำนวนปริมาณมาก ซึ่งต่อไปเป็นหน้าที่ของกรมประมงในการตรวจสอบลักษณะคุณภาพน้ำโดยรวม ว่าจะพบสารเคมีหรือสารพิษในน้ำหรือไม่


รศ.สพญ.ดร.เจนนุช กล่าวว่า


"คณะได้ทำการทดลองการปนเปื้อนของน้ำตาลในน้ำว่าปริมาณเท่าใดจึงทำให้ปลาตายได้ โดยทดลองกับปลานิลที่คณะเลี้ยงไว้ เบื้องต้นได้ใช้วิธีละลายน้ำตาลปริมาณประมาณ 10 % ของสัดส่วนน้ำ พบว่าในช่วงค่ำปลายังมีชีวิตอยู่ดี แต่รุ่งเช้าปลาตายลงกว่าครึ่งหนึ่ง

แต่ก็ยังสรุปแน่ชัดไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นเพราะเรือน้ำตาลจม เพราะลักษณะการละลายน้ำแตกต่างกัน ในห้องทดลองจะละลายน้ำตาลในทันที แต่เรือที่ล่มน้ำตาลจะค่อยๆ ละลายไม่ได้เกิดผลในทันที ทั้งยังระบุความเข้มข้นของน้ำตาลไม่ได้ว่าเข้มข้มในปริมาณเท่ากันหรือไม่"


ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ

จาก หนังสือพิมพ์คม.ชัด.ลึก.
และภาพประกอบจากนสพ.กรุงเทพฯ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์