"ร่างกฏหมายสุขภาพจิต"
นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าววันนี้ (13 มี.ค.) ว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังประสบปัญหาขาดการยอมรับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต หรือผู้ป่วยทางจิต ยังถูกมองว่าเป็นคนบ้า ไม่มองว่าเป็นคนป่วยเหมือนโรคทางกาย จึงทำให้ผู้ป่วยทางจิตจำนวนหนึ่งขาดการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟู บางคนต้องใช้ชีวิตเร่ร่อนตามยถากรรม บทเรียนจากคดีของ นพ.ประกิตเผ่า เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยยังขาดความเข้าใจเรื่องผู้ป่วยโรคจิต มีความแตกต่างจากผู้ป่วยโรคทางกายอย่างมาก และมีผลในการกำหนดพฤติกรรมแสดงออกให้เห็น ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์อาการผิดปกติจากจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค และให้การรักษาที่ถูกต้อง ทั้งการควบคุมอาการด้วยยา ควบคู่การบำบัดพฤติกรรม
นพ.มงคล กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิต ดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายสุขภาพจิตของประเทศไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จุดมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้เพื่อปกป้องคุ้มครอง ส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของประชาชน เสริมสร้างและคุ้มครองสิทธิผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตให้ได้รับการบำบัดรักษาให้หายหรือดีขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยจิตเวช
ผลสำรวจสุขภาพจิตประชาชนทั่วประเทศครั้งล่าสุด เมื่อ พ.ศ.2546 พบประชาชนมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 20 หรือกว่า 12 ล้านคน ที่พบบ่อยคือ ความเครียด ซึ่งจะต้องได้รับคำปรึกษา เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดความเครียดสะสมจนพัฒนาไปสู่โรคทางจิตได้ ซึ่งสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยทางจิตกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาสังคมและประเทศที่เน้นด้านวัตถุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว และว่า องค์การอนามัยโลก รายงานว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคจิตมากถึง 450 ล้านคน และสนับสนุนให้ประเทศทั่วโลก มีกฎหมายสุขภาพจิตบังคับใช้ภายใน 5 ปีนี้ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย ลดการรังเกียจผู้ป่วย