เผยคนไข้ ที่ติดเชื้อ ´หน่อไม้´ อาการดี
กรณีชาวบ้าน ต.ป่าคาหลวง และ ต.สวด อ. บ้านหลวง จ.น่าน กินหน่อไม้ปี๊บและติดเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวที่ใช้ผลิตอาวุธชีวภาพหามส่ง รพ.น่าน และ รพ. บ้านหลวง กว่า 100 ราย ล่าสุดทางกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานกองทัพอากาศจัดเครื่องบิน ซี 130 ไปรับผู้ป่วยที่อาการหนักจำนวน 17 ราย ส่งมาตามโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพฯนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มี.ค. น.พ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยอาการล่าสุดของผู้ป่วยทั้ง 17 ราย ที่ถูกส่งมารักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ทั้ง 7 แห่งว่า อาการยังทรงตัวและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ คณะแพทย์ได้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ระบบปัสสาวะ รวมทั้งดูแลการให้สารอาหาร น้ำ และเกลือแร่ ส่วนผู้ป่วยหนักที่ รพ.น่านอีก 20 ราย ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้อง เคลื่อนย้ายเพราะมีแพทย์ พยาบาล และเวชภัณฑ์ต่างๆเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด
ขณะเดียวกัน พ.ญ.วิไล พัววิไล อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ รพ.ราชวิถี เปิดเผยถึงอาการของผู้ป่วยที่ส่งมารักษา 3 คน ว่า อาการดีขึ้น สามารถลืมตาขยับกล้ามเนื้อแขนขาได้ แต่ยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยมีสติรับรู้ทุกอย่าง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากปอดอักเสบในผู้ป่วย 2 ราย ซึ่งแพทย์ ได้ให้ยาฆ่าเชื้อแล้ว พร้อมกับส่งตัวอย่างเลือดของนางวนิดา พอใจ ไปเพาะเชื้อ เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือไม่ หลังพบว่านางวนิดาติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ
ส่วนที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า ซึ่งมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจำนวน 3 ราย แพทย์เจ้าของไข้ระบุว่า ส่วนใหญ่ อาการทรงตัวแต่ให้ยาฆ่าเชื้อแล้ว มีผู้ป่วย 1 ราย ไม่สามารถลืมตาได้และกล้ามเนื้อยังอ่อนแรง
ขณะที่ ศ.น.พ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี กล่าวว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 รายที่มารักษา อาการล่าสุดยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ส่วน พ.ญ.สุมาลี เกตุนิลศรี แพทย์ระบบทางเดินหายใจของ รพ.รามาธิบดี แถลงว่า ขณะนี้ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์ประเมินว่าหากผ่านไป 2 สัปดาห์ ยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องเจาะคอ เพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ
ด้าน พ.ญ.เอระวดี มิตรภักดี ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งรับผู้ป่วยไว้รักษา 2 ราย คือนายแดง แสนทะนะ และนางแก้ว สุดสม กล่าวว่า จากการปรึกษาทีมแพทย์ของโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่ง พบว่าผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการที่ต่างกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไปอยู่ รพ.รามาธิบดี มีอาการค่อนข้างหนัก ไม่สามารถขยับแขน ขาได้ ขยับได้เพียงนิ้วก้อยเท่านั้น และที่สำคัญอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทั้งหมด ไม่พบอยู่ในตำราทางการแพทย์ ส่วนแนวทางในการรักษานั้นจะใช้วิธีประคับประคอง อาการของผู้ป่วยจนกว่าจะมีสภาพร่างกายเป็นปกติ
นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยอีก 2 ราย คือ นางมี เชื้อหมอ และนายมาวิน ปละวุฒิ ซึ่งมีอาการรุนแรง แพทย์ รพ.น่านได้ส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ขณะนี้ยังไม่ได้สติ ภาวะระบบการหายใจล้มเหลว ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอด 24 ชั่วโมง
น.พ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้คนไข้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน อาการจึงจะดีขึ้น ล่าสุดทาง รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ได้รับการประสานมาว่า จะส่งคนไข้อาการหนักที่ติดเชื้อมาอีก 1 ราย เพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากคนไข้ดังกล่าวอาการยังอยู่ในขั้นหนักมากต้องรอให้อาการดีขึ้นเล็กน้อย เพราะการขนย้ายระยะนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันนี้คณะแพทย์ได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรงพยาบาลชุมชน 2 แห่ง มารักษาที่ รพ.น่าน เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแล และรับรายงานจาก น.พ.คณิต ตันติศิริวิทย์ ผอ.รพ.น่านว่า มีผู้ป่วย 2 ราย พ้นขีดอันตรายและอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว และมีผู้ป่วยอาการหนักที่หายใจเองได้ ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มอีก 1 ราย แต่ยังให้พักในห้องฉุกเฉินเพื่อสังเกตอาการ สำหรับผู้ป่วยอีก 62 ราย ที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อาการทุเลา ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานดี เหลือเพียงปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหารเท่านั้น
ด้าน น.พ.คณิต ตันติศิริวิทย์ ผอ.รพ.น่าน กล่าวว่า ขณะนี้เหลือผู้ป่วยนอนรักษาใน รพ.น่าน 77 ราย อาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 16 ราย จากการประเมินอาการผู้ป่วยพบว่าทุกรายมีแนวโน้มดีขึ้น สามารถขยับแขน ขา ลืมตาได้ แต่แพทย์ยังต้องดูแลเรื่องระบบการทำงานของกระเพาะลำไส้ ซึ่งเป็นผลมาจากพิษของเชื้อโรค โดยจะทำกายภาพบำบัดกระตุ้นกล้ามเนื้อและกระเพาะลำไส้ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอาการทุเลา ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานดี เหลือเพียงปัญหาระบบทางเดินอาหาร กลืนอาหารลำบาก อาหารไม่ย่อย การทรงตัวไม่ดี อย่างไรก็ตาม ทีมแพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ในเร็วๆนี้ อีก 4-5 คน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ