จับตาวิกฤติไฟฟ้า เตือนช่วง 9-10 เม.ย. ยังน่าเป็นห่วง
รมว.พลังงาน สั่งจับตาสถานการณ์ไฟฟ้าระหว่างวันที่ 9-10 เมษายน ที่ภาคอุตสาหกรรมบางส่วนจะใช้เร่งกำลังผลิตหลังจากโรงงานหยุดทำการในวันที่ 5 เมษายน ชี้เสี่ยงขาดแคลน
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องภายใต้ภาวะวิกฤติ (บีซีเอ็ม) ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่า ขณะนี้สถานการณ์ไฟฟ้าระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน แม้ปริมาณสำรองไฟฟ้าฉุกเฉินวันที่ 5 เมษายน จะอยู่ที่ 1,661 เมกะวัตต์ ถือเป็นระยะที่เหมาะสม รับมือหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิดได้ แต่ยังกังวลว่าสถานการณ์วิกฤติอาจเกิดขึ้นวันที่ 9-10 เมษายน แทน เพราะวันดังกล่าว ภาคอุตสาหกรรมบางส่วนจะใช้เร่งกำลังผลิต หลังจากหยุดผลิตวันที่ 5 เมษายน ซึ่งในช่วง 2 วันดังกล่าวมีปริมาณสำรองไฟฟ้าฉุกเฉินอยู่ที่ 1,400 เมกะวัตต์ แม้จะเพียงพอ แต่หากวันดังกล่าวอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียส จะทำให้ปริมาณสำรองหายไปมากกว่า 300 เมกะวัตต์ บวกกับไม่สามารถคาดเดาได้ว่าประชาชนจะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีค อยู่ที่ 26,400 เมกะวัตต์ อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะใช้ไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 300 เมกะวัตต์ แต่พฤติกรรมการใช้ไฟปัจจุบันพบว่า อุณหภูมิที่สูงระดับนี้ประชาชนจะยิ่งใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้น หากอุณหภูมิถึง 40 องศาเซลเซียส เป็นไปได้ที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าอาจมากกว่า 300 เมกะวัตต์ เมื่อนั้นอาจเกิดวิกฤติวันที่ 9-10 เมษายนได้
ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวมีการเชื่อมต่อสื่อสารโดยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ ศูนย์ปฏิบัติการของ ปตท. ในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จ.ชลบุรี โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง และคลังน้ำมันพระโขนง รวมถึงระบบเชื่อมต่อการสื่อสารกับหน่วยงานภายนอก อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ปตท.จะต้องแจ้งเหตุการณ์ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทราบทันที เพื่อปรับลดปริมาณการใช้ก๊าซ หรือปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นทดแทน และแจ้งให้หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. ทราบ เพื่อจัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไป
ในเบื้องต้นได้มีการจัดระดับความรุนแรงแบ่งออกเป็น 5 ระดับ โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์กำหนด ได้แก่ สีขาว สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง ซึ่งแต่ละสีจะบ่งบอกถึงระดับที่แตกต่างกันในปริมาณการจ่ายก๊าซของผู้ผลิต ทั้งระดับปริมาณความต้องการใช้ ระดับการดำเนินการผลิตไฟฟ้าที่เป็นไปตามแผนหรือนอกเหนือจากแผนการผลิตปกติ และระดับผลที่อาจจะกระทบต่อผู้ใช้ เป็นต้น
สำหรับกรณีการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับแหล่งยาดานาปิดซ่อมบำรุง ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายนนั้น ปตท. ได้เตรียมน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) สำรองให้เพียงพอ และมั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อม โดยขอความร่วมมือผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งอื่น ๆ ไม่ให้ทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการผลิตก๊าซในช่วงเวลาดังกล่าว และจัดเตรียมแผนการเรียกก๊าซธรรมชาติเต็มที่จากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งต่าง ๆ รวมถึงสำรองก๊าซธรรมชาติในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตกด้วย