เจะอามิงวอนสังคมจี้นายกฯตอบให้ชัด ประเด็นลงนามแกนนำBRN แก้ไฟใต้
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม นายเจะอามิง โตะตาหยง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ระบุอยากให้สังคมช่วยกันตั้งคำถามในประเด็นการไปลงนามกับกลุ่ม BRN ที่ประเทศมาเลเซีย กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อตอบให้ประชาชนหายข้องใจ ในประเด็นดังกล่าว
เนื่องจากนายกรัฐมนตรีพยายามหลีกเลี่ยงการตอบกระทู้ในสภาโดยการใช้ช่วงเวลาเดียวกันนี้ไปปฏิบัติภารกิจอื่น อีกทั้งเมื่อวันที่7มี.คที่ผ่านมาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กลับปล่อยให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามสดที่ตนถามในเรื่องนี้ แต่กลับได้รับคำตอบที่ไม่ได้อยู่ในคำถาม โดยเป็นลักษณะเตรียมคำถามมาจากบ้าน ซึ่งหาความชัดเจนของคำตอบในประเด็นที่ถามไม่ได้เลยแม้แต่น้อย จึงรู้สึกผิดหวังกับนายกรัฐมนตรีและ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นอย่างมาก ที่ไม่สามารถทำให้คนทั้งประเทศทราบว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจที่ประเทศมาเลเซียเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอย่างไร และไทยให้อะไรเป็นการแลกเปลี่ยน ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงในประเทศและเป็นปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากในเอกสารที่ตนได้มานั้น กลุ่มแกนนำ BRN ระบุว่าต้องให้สิ่งแลกเปลี่ยน ถ้าไม่ให้ก็จะไม่ยอมเจรจาด้วย
ส.ส.นราธิวาส กล่าวต่อว่า อีกทั้งเนื้อหาจากการลงนาม ประเทศไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบฝ่ายเดียว ในขณะที่กลุ่มแกนนำBRN เป็นผู้ได้รับประโยชน์ และประเทศมาเลเซียไม่ต้องร่วมรับผิดชอบอะไรแม้แต่นิดเดียว เพราะลงนามร่วมในฐานะผู้สังเกตการเท่านั้น ดังนั้นตนและคนไทยทั้งประเทศจึงต้องการทราบว่าสิ่งนั้นคืออะไร และการให้คืออะไร ให้อย่างไร จนนำมาสู่การลงนามในครั้งนี้
นายเจะอามิง ยังระบุว่า ในการเจรจาพูดคุยระหว่างกันระหว่างประเทศตามหลักแล้วต้องให้สภาความมั่นคงหางชาติ(สมช.)ไปเจรจาโดยไม่เปิดเผย เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลงานด้านความมั่นคง ซึ่งมีความรู้ ความเข้าใจข้อมูล และปัญหาที่ลึกซึ้งของอีกฝ่ายเป็นอย่างดี แต่ต้องไม่อยู่ภายใต้การชี้นำของรัฐบาล เพราะเมื่อการเมืองเข้ามาควบคุมก็จำทำให้กรอบการทำงานเปลี่ยนไป จนทำให้ขณะนี้ สมช.กลายเป็นทำงานการเมืองโดยผูกเรื่องความมั่นคงเอาไว้ด้วยซึ่งไม่ใช่ลักษณะการทำงานที่ถูกต้อง อีกทั้งไม่ควรมีการนำเสนอจนเหมือนเป็นการโฆษณาสร้างความดีความชอบให้กับรัฐบาล ว่ามีความคืบหน้าถึงแนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่สิ่งสะท้อนกลับไปสู่ประชาชน คือการตกเป็นตัวประกัน หรือเป็นข้อต่อรองต่อการหาประโยชน์จากการเจรจา และสำหรับการเจรจาร่วมกันครั้งแรกของ สมช.กับแกนนำBRN ที่จะมีขึ้นในวันที่28มี.ค.นี้ ตนไม่คาดหวังเลยว่าไทยจะได้รับประโยชน์อะไรจากการเจรจา เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันออกมาว่าบุคคลที่ไปพูดคุยด้วยถูกฝาถูกตัวหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นายเจะอามิง ยอมรับว่า เห็นด้วยหากรัฐบาลจะมีการเจรจากับกลุ่มต่างๆเพื่อหาแนวทางสร้างความสงบสุขขึ้นในพื้นที่ แต่จำเป็นต้องตอบให้ชัดเจนในสภาด้วยว่ามีเงื่อนไขหรือข้อแลกเปลี่ยนอย่างไร เพื่อจะได้นำมาหารือร่วมกัน เพราะปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาระดับชาติ ที่หากรัฐบาลตัดสินใจทำโดยพละการ แล้วนำมาสู่การยกระดับสถานการร์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจุดประเด็นนี้ขึ้นมา ก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกเท่านั้น เพราะเป็นผู้ชักนำชีวิตประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปอยู่ท่ามกลางไฟใต้ที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้น