แฉโกงครูผู้ช่วย3รูปแบบ ชงโละสอบ 18มี.ค.ยื่นศธ.ชี้โมฆะ เค้นกลุ่มคะแนนเต็ม แฉขอนแก่นซื้อ7แสน

แฉโกงครูผู้ช่วย3รูปแบบ ชงโละสอบ 18มี.ค.ยื่นศธ.ชี้โมฆะ เค้นกลุ่มคะแนนเต็ม แฉขอนแก่นซื้อ7แสน


ดีเอสไอฟันธงทุจริตครูผู้ช่วย ส่งผลสรุปให้ ศธ.ยกเลิกการสอบ 18 มี.ค. พบทุจริตโผล่อีก 2 ราย

จาก กรณีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยอมรับว่าการทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว 12 ครั้งที่ผ่าน น่าจะทุจริตจากส่วนกลาง เพราะมีผู้สอบได้คะแนนเต็มถึง 480 คน ขณะที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พบพิรุธในการจัดผังที่นั่งสอบ โดยพบว่าเขตพื้นที่การศึกษาได้ปรับผังที่นั่งใหม่ ไม่เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนด และกรณีพนักงานราชการแฉผู้อำนวยการโรงเรียนรับเงินแลกกับการออกเอกสารปลอม เพื่อรับรองการทำงานของพนักงานราชการที่ยังทำงานไม่ครบ 3 ปีนั้น

เมื่อ เวลา 10.00 น. วันที่ 6 มีนาคม ที่ สพฐ.ศธ.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รอง ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ประมาณ 10 คน เข้าขอข้อมูลและสอบปากคำเจ้าหน้าที่ สพฐ.ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดสอบครูผู้ช่วย โดยมีนายสุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.และเจ้าหน้าที่ สพฐ.ประมาณ 5 คนเข้าให้ปากคำ และนำเอกสารต่างๆ มาชี้แจง ซึ่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอใช้เวลาสอบปากคำประมาณ 3 ชั่วโมง

นายธานินทร์เปิดเผยภายหลังว่า ดีเอสไอจะนำเอกสารต่างๆ ที่ได้ในวันนี้ไปตรวจสอบว่าเอกสารเหล่านี้ว่ามีกระบวนการที่ถูกต้องตาม กฎหมายหรือไม่ ซึ่งเอกสารมีจำนวนมาก ทำให้พนักงานสอบสวนต้องขอกลับไปรวบรวมก่อน โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณามากขึ้น เช่น กระบวนการสอบ การส่งข้อสอบ และการทุจริตการสอบที่ต้องดูเอกสารว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือไม่ ทั้งนี้ จากข้อมูลของ สพฐ.ที่แจ้งว่าพบผู้ผ่านการสอบบางคนมีคะแนนสูงผิดปกติ ทำให้ชี้จุดได้ว่าลักษณะของการทุจริตเป็นอย่างไร และกลุ่มที่เข้าข่ายทุจริตเป็นกลุ่มไหนบ้าง โดยข้อมูล สพฐ.ระบุว่ามีผู้ผ่านการคัดเลือกที่คะแนนสูงผิดปกติตั้งแต่ร้อยละ 90-100 ประมาณ 400 คน โดยคะแนนเฉลี่ยของผู้เข้าสอบครั้งนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 80

"ดัง นั้น พนักงานสอบสวนจะประเมินว่าคะแนนส่วนไหนที่มีปัญหา อาจต้องคัดกรอง และเชิญผู้เข้าสอบที่มีคะแนนสูงผิดปกติมาสอบปากคำว่าทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งจะต้องชี้เป็นรายคน โดยการคัดกรองกลุ่มที่คะแนนสูงผิดปกติ และเข้าข่ายในลักษณะการใช้เครื่องมือ หรือการพกโพยคำตอบเข้าไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่คะแนนสูงผิดปกติอาจมีส่วนในการทุจริตครั้งนี้ แต่ต้องตรวจสอบก่อน เพราะบางคนที่เก่งจริงก็อาจสอบได้คะแนนสูง และทั้งหมดต้องขึ้นกับพยานหลักฐาน" นายธานินทร์กล่าว

นายธานินทร์ กล่าวว่า ส่วนกระดาษคำตอบที่อายัดไว้ จะต้องทำหนังสือถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เพื่อขออนุญาตนำกระดาษคำตอบส่งให้ดีเอสไอ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานที่ได้ ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนและอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดีเอสไอเชิญมาให้ข้อมูลนั้น ไม่ใช่ผู้ทุจริต แต่เป็นผู้ที่มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริต ดังนั้น จึงต้องเรียกมาให้ข้อมูล เพื่อจะได้สาวไปถึงตัวการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะใช้เวลาสอบ 3 วัน และสัปดาห์หน้าพนักงานสอบสวนจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง

"ข้อมูล ที่ได้ในวันนี้เป็นประโยชน์มาก ทำให้ตีวงแคบมากขึ้นในการหาตัวผู้ทุจริต ซึ่งอาจไม่ได้ตีวงกว้างทั่วประเทศ อาจจะมีเฉพาะจุด และขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่จะตรวจสอบ โดยวันที่ 18 มีนาคม จะสรุปผลสอบเบื้องต้นว่ากลุ่มที่กระทำความผิดมีใครบ้าง และต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป" นายธานินทร์กล่าว

นายธานินทร์กล่าว อีกว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้หลักฐานเบื้องต้นจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุด ที่นายเสริมศักดิ์แต่งตั้งนำมามอบให้ และยังมีพยานหลักฐาน เครื่องมือสื่อสาร โพยคำตอบต่างๆ ที่นำเข้าห้องสอบ ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบว่ามีการใช้เครื่องมือสื่อสารจริงหรือไม่ และโพยคำตอบที่นำเข้าห้องสอบตรงกับคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้องก็แสดงว่ามีข้อมูลชัดว่าทุจริตจริง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ดีเอสไอจะดำเนินการมี 2 ประเด็น คือ 1.ต้องชี้ว่ากรณีดังกล่าวมีการทุจริตจริงหรือไม่ เพื่อให้ ศธ.พิจารณาว่าควรยกเลิกผลสอบบางจุด หรือยกเลิกทั้งหมด โดยจะให้เสร็จภายในวันที่ 18 มีนาคม และ 2.ผู้กระทำผิดมีกระบวนการอย่างไร และมีใครบ้าง เมื่อได้หลักฐานพอสมควรแล้ว จะนำเสนอคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อบรรจุให้กรณีทุจริตนี้เป็นคดีพิเศษ จะทำให้มีอำนาจสอบสวนเต็มที่ เพื่อจะได้หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษทางกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สรุปได้หรือไม่ว่าข้อสอบครูผู้ช่วยรั่วในขั้นตอนใด นายธานินทร์กล่าวว่า ตอบยาก เพราะทุกๆ จุดมีช่องโหว่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบริษัทที่ทำข้อสอบ หน่วยงานที่ส่งข้อสอบ คณะกรรมการรับข้อสอบ และคณะกรรมการเปิดข้อสอบ ฉะนั้น พนักงานสอบสวนต้องแยกเป็นประเด็น และดูว่าตรงไหนมีจุดโหว่มากที่สุด

นาย เสริมศักดิ์กล่าวว่า การตรวจสอบในขณะนี้พบผู้สอบกลุ่มที่มีคะแนนสูงผิดปกติ 486 คน กระจายตัวใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งสันนิษฐานเบื้องต้นได้เลยว่าผู้เข้าสอบกลุ่มนี้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่า ทุจริตการสอบ โดยเฉพาะกรณีข้อสอบรั่วที่ทำให้ผู้เข้าสอบบางคนมีคะแนนสูงผิดปกติ อย่างไรก็ตาม กรณีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะนัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นัดพิเศษ ในวันที่ 13 มีนาคม เพื่อพิจารณาว่าจะยกเลิกผลการสอบครูผู้ช่วยหรือไม่นั้น จะหารือนายพงศ์เทพเพื่อขอให้เลื่อนการประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ออกไปปลายเดือนมีนาคม เพื่อรอผลการตรวจสอบจากฝ่ายต่างๆ ก่อน

นาย พงศ์เทพกล่าวว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่าจะจัดการกับผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบครู ผู้ช่วยครั้งนี้ขั้นเด็ดขาด และเท่าที่ได้ดูกราฟข้อมูลคะแนนของผู้เข้าสอบที่นายชินภัทรนำมารายงานให้ ทราบ พบว่ามีความผิดปกติของคะแนนผู้เข้าสอบมาก ส่วนที่มีผู้ทุจริตสอบใช้เครื่องมือสื่อสารระบบสั่นเข้าห้องสอบในพื้นที่ สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) อุดรธานี เขต 3 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ทุจริตนั้น ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด หากเป็นข้าราชการก็ต้องดำเนินการทั้งวินัยและอาญา หากเป็นบุคคลทั่วไปก็ต้องดำเนินการทางอาญา จะไม่ปล่อยให้เกิดกรณีของมวยล้มต้มคนดูแน่ เพราะนายเสริมศักดิ์เดินหน้าตรวจสอบเรื่องนี้เต็มที่อยู่แล้ว

นายชิน ภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสอบครั้งนี้ ให้ข้อมูลกับดีเอสไอเต็มที่ รวมถึงเตรียมเอกสารข้อมูล 4 ส่วนไว้ให้ตามที่ดีเอสไอขอมา คือ 1.หลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบคัดเลือก 2.จำนวนเขตพื้นที่การศึกษา และรายชื่อเขตพื้นที่ฯ 3.จำนวนผู้เข้าสอบ ผลการสอบ และรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก และ 4.วิธีการจัดส่งข้อสอบ การเก็บข้อสอบ และการประกาศผลสอบ ส่วนที่นายเสริมศักดิ์จะขอให้เลื่อนการประชุม ก.ค.ศ.ออกไป เพื่อรอผลการสอบสวนจากดีเอสไอนั้น แล้วแต่ความเหมาะสม ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะข้อมูลจากดีเอสไอน่าจะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจว่าจะออกมาในลักษณะใด ส่วนตนยังไม่ได้รับการติดต่อจากดีเอสไอเพื่อขอสอบปากคำ แต่ถ้าติดต่อมาก็พร้อมให้ความร่วมมือ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่ดูข้อมูลจาก สพฐ.มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ยกเลิกการสอบเป็นบางเขตพื้นที่ฯหรือไม่ นายชินภัทรกล่าวว่า ยังขอไม่ให้ความเห็นเรื่องนี้ เพราะน่าจะปรึกษาหารือกับผู้บริหารระดับนโยบายก่อน ดังนั้น สพฐ.คงทำไปตามขั้นตอน และขั้นตอนหนึ่งคือช่วงของการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทุกฝ่ายก็ดำเนินการไป และนำข้อมูลจากทุกส่วนมารวมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด กรณีมีผู้กล่าวหาว่ามีคนในของ สพฐ.เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้น คิดว่าเอาหลักฐาน และพยานมาพูดกันดีกว่า เพราะการตั้งข้อสงสัย และวิจารณ์เกินเลยไป ไม่ส่งผลดี ควรจะทำให้ทุกอย่างกระจ่างชัดด้วยพยานหลักฐานจะดีที่สุด

วัน เดียวกัน ที่ดีเอสไอ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวในการแถลงผลการตรวจสอบการทุจริตสอบครูผู้ช่วยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบหลักฐานชี้ว่ามีทุจริตสอบครูผู้ช่วยจริง โดยจะสรุปผลการสืบสวนเบื้องต้นส่งให้ ศธ.นำไปประกอบการพิจารณายกเลิกการสอบหรือไม่ ภายในวันที่ 18 มีนาคมนี้ สำหรับประเด็นที่ต้องสืบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงต่อไปคือทุจริตเฉพาะพื้นที่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือเกิดการทุจริตทั่วประเทศ เพื่อให้ ศธ.พิจารณาว่าจะยกเลิกการสอบทั้งหมด หรือยกเลิกการสอบเพียงบางพื้นที่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดสอบแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

นาย ธานินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบเชื่อว่ามีทุจริตครูผู้ช่วยเกิดขึ้นจริง โดยมี 3 รูปแบบ คือ 1.การให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทน 2.การนำข้อสอบออกมา และเฉลยข้อสอบ เพื่อให้นำไปท่องจำก่อนเข้าสอบ และ 3.การนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องสอบ เนื่องจากการสืบสวนพบมีหลักฐานชี้ชัด โดยเฉพาะพยานบุคคลที่ให้การว่าก่อนถึงวันสอบ 2 วัน มีการอบรมการใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อเฉลยข้อสอบ

"นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานโพยข้อสอบซึ่งจะนำไปตรวจสอบว่าตรงกับกระดาษคำตอบของ สพฐ.หรือไม่ และยังพบโทรศัพท์มือถือในห้องสอบด้วย อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ภาคอีสานเพื่อสอบปากคำพยาน จากนั้นจะสรุปผลการสืบสวนส่งให้ ศธ.ในวันที่ 18 มีนาคม เพื่อดำเนินการต่อไป" นายธานินทร์กล่าว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการตรวจ สอบข้อเท็จจริงชุดที่นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นประธาน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะกรรมการฯ พบว่าในการสอบครูผู้ช่วยวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าสอบนำเครื่องมือสื่อสารที่เป็นโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องสอบเพื่อ ดูเฉลยที่สนามสอบใน สพป.อุดรธานี เขต 3 และนำยางลบที่เขียนเฉลยคำตอบวิชาที่สองไว้ เข้าห้องสอบที่ สพป.ยโสธร เขต 1 เมื่อกรรมการคุมสอบพบเข้า จึงเกิดการยื้อแย่งยางลบกัน กระทั่งผู้เข้าสอบวิ่งหนีออกจากห้องสอบ แต่ไม่ได้มีการดำเนินการ หรือแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ทุจริตทั้ง 2 ราย และเมื่อสอบถามมายัง สพฐ.ได้รับคำตอบว่าให้ปิดเรื่องนี้ไว้ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นข่าว และกลายเป็นปัญหา

พนักงานราชการคนหนึ่งในภาคอีสาน เปิดเผยกับ "มติชน" ว่า สำหรับการจ่ายเงินให้กับขบวนการทุจริตสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้ ไม่ได้จ่ายที่อัตรา 400,000 บาทเท่านั้น เพราะในกรณีที่ต้องการบรรจุในเขตพื้นที่ฯ ที่ปฏิบัติงานอยู่ เพราะไม่ต้องการไปบรรจุในจังหวัด และภาคอื่นๆ จะต้องจ่ายเงินสูงสุดประมาณ 700,000 บาท โดยเฉพาะใน จ.ขอนแก่น ที่มีการจ่ายเงินในจำนวนที่สูงสุด

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์