แพทย์ เผย เลือดบริจาคที่ติดเชื้อมาจากเพศที่ 3 เกือบ 100%
ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ปัด รังเกียจเพศที่ 3 แต่เป็นหลักสากลที่จะไม่รับบริจาคเลือด ชี้ สถิติในประเทศไทยพบเลือดติดเชื้อ 2% ในจำนวนนี้มาจากเพศที่ 3 เกือบ 100%
จากกรณีที่มีกลุ่มเพศที่ 3 หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาแสดงความไม่พอใจที่สภากาชาดไทยปฏิเสธ รับบริจาคเลือด โดยให้เหตุผลว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีนั้น
เมื่อ วันที่ 6 มีนาคม พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในการประชุมวิชาการงานบริการโลหิตระดับชาติ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2556 ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่ทางศูนย์บริการโลหิตฯ เผชิญมา 5 ปีแล้ว โดยที่ผ่านมาก็ต้องไปชี้แจงที่สำนักงานสิทธิมนุษยชนตลอด ยืน ยันว่าไม่ได้รังเกียจเพศที่ 3 เพราะสังคมให้การยอมรับเพศที่ 3 อยู่แล้ว แต่โดยหลักการสากลที่ใช้ทั่วโลกได้กำหนดให้เพศที่ 3 เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเราต้องปฏิบัติตาม เพราะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยึดหลักสิทธิของผู้ป่วยที่จำเป็นที่ต้องได้รับเลือดที่บริสุทธิ์
ทั้งนี้ พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ยังเปิดเผยข้อมูลว่า จาก สถิติที่ศูนย์ได้รับเลือดบริจาคมานั้น จะมีเลือดที่ติดเชื้อประมาณ 2% ทั้งเชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบซี ตับอักเสบบี และในจำนวนที่ติดเชื้อนี้ เกือบ 100% เป็นเลือดที่ได้รับบริจาคมาจากกลุ่มเพศที่ 3 โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ซึ่งไม่ค่อยป้องกันตัวเอง เพราะไม่มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์แบบผู้หญิง ทำให้โอกาสติดเชื้อระหว่างกันมีสูง
ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ยังบอกต่อว่า หาก ศูนย์ตรวจพบเชื้อดังกล่าวในโลหิตก็จะแจ้งให้ผู้บริจาคเข้ามาตรวจสอบซ้ำ และสัมภาษณ์เป็นการส่วนตัว ก็จะทราบว่าบางคนเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมแฝง แอ๊บแมน ไม่ได้ป้องกันอย่างดีระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เวลาตอบคำถามคัดกรองก็ไม่ตอบตรงตามความเป็นจริง เพราะคิดว่าให้โลหิตมาแล้วก็ใช้ได้ หากใช้ไม่ได้ก็ทิ้งไป ซึ่งไม่อยากให้คิดเช่นนี้ เพราะหากเลือดติดเชื้อก็เหมือนเอาเลือดมาเททิ้ง นอกจากไม่ได้บุญแล้วยังเป็นการตั้งใจทำบาป เพราะหากผู้บริจาคได้รับเชื้อเอชไอวีมาเพียงในระยะ 11 วัน จะไม่มีเครื่องมือใดสามารถตรวจพบเชื้อได้เลย
ขณะ เดียวกัน ในการประชุมดังกล่าว พญ.สร้อยสอางค์ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา มีจำนวนโลหิตบริจาคทั่วประเทศที่ตรวจด้วยโปรแกรมการตรวจหาสารพันธุกรรมทาง ชีววิทยาระดับโมเลกุล (NAT) ทั้งหมด 1,558,777 ยูนิต หรือคิดเป็น 80% ของจำนวนโลหิตที่เก็บได้ทั้งประเทศ โดยประมาณ 64% เป็นโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและภาคบริการโลหิตแห่งชาติทำการตรวจ ส่วนอีกประมาณ 15% ตรวจโดยโรงพยาบาลในเขต กทม. และโรงพยาบาลในต่างจังหวัด
อย่าง ไรก็ตาม พญ.สร้อยสอางค์ ชี้ให้เห็นว่า แสดงว่าเลือดที่เหลืออีกอย่างน้อย 20% ที่ไม่สามารถตรวจด้วยวิธีการแนทนั้นถือเป็นเลือดที่ยังมีความอันตราย ซึ่งตรงนี้ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะพยายามทำให้ครอบคลุมทั้งหมดให้ได้ ด้วยการขยายการตรวจคัดกรองไปยังภาคบริการโลหิตแห่งชาติทุกแห่ง เพราะการเพิ่มการตรวจคัดกรองด้วยวิธีดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการป้องกันการ แพร่ระบาดของการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบซี และเชื้อไวรัสตับอักเสบบี