เปิดกรุ 11 สะพานข้ามเจ้าพระยา เวนคืน 2 ฝั่งแม่น้ำ ตำแหน่งเดิมทุกจุด
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 11 แห่ง มีผลการศึกษาเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2554 ล่าสุดความคืบหน้าทาง "สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร" กำลังจะนำแผนแม่บทเสนอให้ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เจ้ากระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอให้ "คณะรัฐมนตรี" เห็นชอบ เพื่อแจกจ่ายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดหาเงินมาก่อสร้างต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จุดที่ตั้งครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลย่าน "นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรสาคร-สมุทรปราการ"
สะพานนนท์ 1 ตอกเข็มแล้ว
ทั้ง 11 สะพานล่าสุดยังไม่มีการขยับปรับแผนวงเงินและกรอบเวลาก่อสร้างแต่อย่างใด คาดว่าจะใช้วงเงินรวม 54,326 ล้านบาท เวลา 20 ปีภายในปี 2574
แผนระยะ 5 ปี กำหนดเปิดใช้ในปี 2559 มี 2 โครงการเร่งด่วน คือ "สะพานนนทบุรี 1" ของ ทช. ค่าก่อสร้าง 3,796 ล้านบาท ตอกเข็มไปแล้วเมื่อพฤษภาคม 2555 ผู้รับเหมาคือ "บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์"
ผลงานคืบหน้าล่าสุดประมาณ 20% จะแล้วเสร็จ 18 ตุลาคม 2557 แนวเส้นทางเริ่มจากจุดใกล้โรงเรียนศรีบุณยานนท์และชุมชนตลาดขวัญ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปสิ้นสุดโครงการที่ถนนราชพฤกษ์
เกียกกายยังไร้เงินก่อสร้าง
อีกโครงการคือ "สะพานเกียกกาย" ของ กทม. ค่าก่อสร้าง 9,100 ล้านบาท รองรับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณเกียกกายที่กำลังเวนคืนและเปิดประมูลก่อสร้าง
ความคืบหน้าล่าสุด "จุมพล สำเภาพล" รองปลัด กทม. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า อยู่ระหว่างขอตั้งงบประมาณปี 2557 จำนวน 100 ล้านบาทเป็นค่าดำเนินการเริ่มต้นโครงการ ทำให้แผนก่อสร้างเดิมต้องเริ่มปีนี้ ต้องเลื่อนในปี 2558-2559 แทน รอผู้ว่าราชการ กทม.มาขับเคลื่อน เพราะประเมินว่าจะต้องใช้งบฯ 1 หมื่นล้านบาท
โครงการออกแบบเป็นสะพานยกระดับและถนนต่อเชื่อมยกระดับขนาด 4-6 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นอยู่บริเวณทางรถไฟสายใต้ ตัดตรงข้าม ถ.จรัญสนิทวงศ์ ซอย 93-95 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รัฐสภาแห่งใหม่
ผ่าน ถ.สามเสน ถ.ทหาร ถ.เตชะวณิช ถ.ประดิพัทธ์ วกเข้า ถ.เทอดดำริห์ ตวัดออกข้ามทางด่วนขั้นที่ 2 บริเวณ ถ.พระรามที่ 6 เข้า ถ.กำแพงเพชร ผ่านตลาด อ.ต.ก. ตลาดนัดจตุจักร มาบรรจบกับ ถ.พหลโยธินด้านกรมการขนส่งทางบก มียอดเวนคืน 874 ราย
ปรับสะพานปากน้ำ-มหาชัย
ส่วนที่เหลือจะจัดอยู่ในแผน "ระยะ 10 ปี" ตั้งแต่ปี 2560-2564 มี 9 แห่ง เริ่มจาก "สะพานพระราม 2" ของ กทม. ค่าก่อสร้าง 3,000 ล้านบาท ยาว 2 กิโลเมตร 2 ช่องจราจร แนวเส้นทางอยู่บริเวณต่างระดับ ถ.พระรามที่ 2 ยกระดับข้ามผ่าน ถ.ราษฎร์บูรณะ แม่น้ำเจ้าพระยา พาดผ่าน ถ.เจริญนคร ไปบรรจบกับ ถ.พระรามที่ 3 บริเวณจุดตัดกับ ถ.สาธุประดิษฐ์
"สะพานสมุทรปราการ" ของ ทช. โครงการใหญ่ที่สุดในแผนแม่บท วงเงิน 19,437 ล้านบาท 37 กิโลเมตร ปัจจุบัน ทช.ปรับปรุงโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ "โครงการสะพานเชื่อมต่อ จ.สมุทรปราการ-สมุทรสาคร" ใช้เงินลงทุนกว่า 49,600 ล้านบาท 59 กิโลเมตร
แนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณ ถ.สุขุมวิทสายเก่าใกล้เมืองโบราณ ผ่านฟาร์มจระเข้ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าน ถ.สุขสวัสดิ์ ไปเชื่อมกับ ถ.เลียบคลองสรรพสามิตตัดผ่านป่าชายเลนไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 35 หรือ ถ.พระรามที่ 2 ล่าสุด "ทช." เตรียมของบประมาณปี 2557 มาศึกษาออกแบบรายละเอียด
"สะพานปทุมธานี 3" ของ ทล. วงเงิน 1,820 ล้านบาท 4 ช่องจราจร ออกแบบเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยายาว 600 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อม 10.5 กิโลเมตร ไปต่อเชื่อมกับ ถ.วงแหวนรอบนอกตะวันตก กับ ถ.รังสิต-ปทุมธานี บริเวณแยกโรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส
กทม.อุบเงียบอีก 3 แห่ง
ส่วน "สะพานจันทน์-เจริญนคร" ของ กทม. ล่าสุดผลการศึกษาสรุปออกมามีระยะทาง 1.3 กิโลเมตร เป็นสะพาน 4 ช่องจราจร ใช้เงินก่อสร้าง 4,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 600-700 ล้านบาท
ที่เหลือเป็นค่าเวนคืนที่ดิน เพราะพาดผ่านที่ดินกลางเมืองใกล้รถไฟฟ้า ทำให้ราคาที่ดินค่อนข้างแพง เฉลี่ย 2 แสนบาท/ตารางวา
จุดเริ่มต้น ถ.จันทน์ ซอย 42 ผ่าน ถ.เจริญกรุง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบ ถ.เจริญนครซอย 24 หลังกทม.ให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษารายละเอียด มีเวนคืนที่ดิน 200-300 หลังคาเรือน จุดเวนคืนใหญ่ อาทิ ฝั่ง ถ.เจริญกรุง จะเฉือนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กว่า 4 ไร่ ด้านหลังโรงแรมชาเทรียม ซึ่งเป็นที่เช่าระยะยาวของบริษัท แลนด์มาร์ค ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ธุรกิจของตระกูลเตชะอุบล ล่าสุด กทม.ยังไม่ได้สั่งเดินหน้าขอจัดสรรงบประมาณมาก่อสร้างแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับ "สะพานลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม" ที่ กทม.ศึกษาความเหมาะสมและเคาะแนวเส้นทางไปแล้วเมื่อปี 2554 มีจุดเริ่มต้นฝั่ง ถ.ลาดหญ้า ระหว่างซอยเจริญรัถ 18 กับซอยลาดหญ้า 17 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมกับฝั่งพระนครบริเวณ ถ.มหาพฤฒาราม ใกล้โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม 2.36 กิโลเมตร ใช้เงินประมาณ 1,455 ล้านบาท มีเวนคืน 12.1 ไร่ อาคาร 50 หลัง จ่ายค่าชดเชยประมาณ 300 ล้านบาท
ส่วน "สะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง" ผลศึกษาโครงการจุดที่ตั้งยังคงเดิม สร้างอยู่บนแนว ถ.ราชวงศ์ และ ถ.ท่าดินแดง มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณ ถ.ทรงวาด วิ่งตาม ถ.ราชวงศ์-ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือดินแดง-ถ.ท่าดินแดง สิ้นสุดที่ปากซอยท่าดินแดง 17 ความยาว 480 เมตร
แต่เพื่อลดแรงต้านชาวบ้าน กทม.จะไม่มีเวนคืนที่ดิน โดยลดขนาดสะพานเหลือ 2 ช่องจราจร มีความกว้าง 10 เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 837 ล้านบาท
ท่าน้ำนนท์-สนามบินน้ำไม่คืบ
สะพานที่ยังไม่มีการเริ่มต้นศึกษาคือ "สะพานท่าน้ำนนท์" ของ ทช. วงเงิน 800 ล้านบาท ยาว 490 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร สร้างบน ถ.ท่าน้ำนนท์-วัดโบสถ์ ใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยาข้ามมาอีกฝั่งลงที่ ถ.กรุงเทพฯ-นนทบุรี
"สะพานสามโคก" ของ ทล.ศึกษาเบื้องต้นเสร็จแล้ว วงเงิน 5,192 ล้านบาท ยาว 440 เมตร พร้อม ถ.ต่อเชื่อมอีก 8.94 กิโลเมตร มีขนาด 6 ช่องจราจร เริ่มต้นจาก ถ.สาย 347 (ปทุมธานี-ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างวัดปทุมทองกับวัดบัวทอง ไปลงที่ ถ.ปทุมธานี-สามโคก-เสนาและสุดท้าย "สะพานสนามบินน้ำ" ของ ทช. วงเงิน 1,580 ล้านบาท จะเป็นแผนในปี 2565 ความยาว 1.4 กิโลเมตร
และถนนต่อเชื่อม 5 กิโลเมตร 4 ช่องจราจร จุดเริ่มต้น ถ.สนามบินน้ำ ใกล้หมู่บ้านธิดารัตน์ ตรงไปข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังอีกฝั่งที่เป็นพื้นที่ตัดใหม่ก่อนถึง ถ.ราชพฤกษ์
ทั้งหมดเป็นเพียงกรอบเวลาเบื้องต้นตามแผนแม่บท นั่นหมายความว่ายังสามารถรีวิวแผนลงทุนได้นั่นเอง