พระพุทธรูปสาวนั่งตักไม่ผิด เป็นพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ

พระพุทธรูปสาวนั่งตักไม่ผิด เป็นพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ

28ก.พ.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คมีการแชร์ภาพพระพุทธรูป

ปั้นอยู่ในท่านั่งและมีรูปปั้นผู้หญิงนั่งทับคร่อมบนตักแล้วโอบกอดพระ ต่อๆ กันไป ในหมู่เพื่อนฝูง โดยเฉพาะใน facebook รวมทั้งยังได้มีการแสดงความเห็นถึงความไม่เหมาะสมของภาพดังกล่าว กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่รู้สึกรับไม่ได้ เพราะเหมือนเป็นการดูหมิ่นพระพุทธศาสนา

รายงานแจ้งว่า  ทางสำนักพุทธศาสนา ได้ตรวจสอบถึงที่มาของภาพดังกล่าวแล้ว พบว่า เป็นภาพที่เกิดขึ้นมานานแล้ว
 
และพระพุทธรูปปางเสพสังวาสนี้ ก็มีอยู่จริงใน ทิเบต ของ นิกายวัชรยาน ซึ่งเป็นภาพพระพุทธรูป ที่มีหญิงสาวนั่งคร่อมบนตัก อยู่ในอาการกำลังเสพสังวาส ในความรับรู้ของคนทั่วไป นั้น "ลัทธิตันตระ" เป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนา แบบมหายานที่เผยแพร่อยู่ทั่วไปในทิเบต ภูฏาน และจีน ซึ่งจะมีการสร้างรูปเคารพในลักษณะแปลกประหลาดกว่าทางหินยาน หรือ เถรวาท เช่น มักผนวกเอาเรื่องราวของความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ให้ปรากฏในการสร้างพระพุทธรูป จนถูกเรียกว่า"นิกายมนตรยาน"ก็มี

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง “ตันตระ” พบว่า หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ปีที่ 26 ฉบับที่ 9417 ประจำวันอาทิตย์ที่ 21 ธ.ค. 2546 

 ระบุไว้ว่า เมื่อหลายปีที่ผ่านมา มีพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้จัดนิทรรศการทางศิลปะขึ้นมา ในงานนี้มีการนำพระพุทธรูปแบบ “ตันตระ” (Tantra) ของทิเบต ซึ่งมี “ทาระ” (Tara) หรือ “คู่ครอง” สวมกอดอยู่ด้านหน้ามาแสดงหลายองค์ด้วยกัน บังเอิญชาวพุทธแบบ “เถรวาท” ของไทยไปพบเห็นเข้า ได้นำรูปถ่ายของพระพุทธรูปนี้ร้องเรียน จนถึงกับจะมีการเดินขบวนประท้วงไปยังสถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงเทพฯ


พระพุทธรูปสาวนั่งตักไม่ผิด เป็นพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ

อันที่จริงแล้วพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปแบบ “วัชรยาน” (Vajrayana) อันเป็นศิลปะแบบ “ตันตระ” ของทิเบต

ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาในหมู่ประชาชนชาวทิเบตมานาน เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนานนับพันปี
พระพุทธศาสนาฝ่าย “วัชรยาน” หรือ “ตันตระ” เกิดขึ้นในอินเดียในยุคสมัยที่ ลัทธิตันตระ (Tantricism) กำลังเฟื่องฟู ในยุคแห่งความรุ่งเรืองนั้นลัทธิตันตระมีอิทธิพลต่อทั้งปรัชญาและศาสนาในอินเดียอย่างใหญ่หลวง จนทำให้เกิดศาสนาฮินดูแบบตันตระ ศาสนาเชนแบบตันตระ และพระพุทธศาสนาแบบตันตระขึ้น โดยที่ลัทธิตันตระได้ยกย่องและเน้นความสำคัญของเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิงขึ้นมา “เทพเจ้า” ทุกพระองค์ในคติความเชื่อแบบตันตระ (ซึ่งรวมทั้งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย) จึงมี “ทาระ” (คู่ครอง) สวมกอดอยู่ ดังที่แสดงออกในศิลปะแบบตันตระ

ปฏิมากรรมหรือจิตรกรรมแบบตันตระ ซึ่งมีเทพเจ้าเพศหญิงและเพศชายสวมกอดกันอยู่นั้น ชาวทิเบตเรียกว่า “ยับ-ยุม” (yab-yum)
 
มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าอย่างอื่น พุทธศาสนาฝ่ายตันตระอธิบายว่า การตรัสรู้เป็นผลรวมของปัญญาและกรุณา โดยที่เพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของ “ปัญญา” ขณะที่เพศชายเป็นสัญลักษณ์ของ “กรุณา” (ซึ่งตรงข้ามกับสามัญสำนึกของคนในยุคปัจจุบัน) ตามทรรศนะแบบตันตระ ปัญญาเปรียบเหมือนดวงตา กรุณาเปรียบเหมือนแขนขา หากขาดดวงตาแล้วแขนขาก็กระทำการอย่างมืดบอด หากขาดแขนขาแล้วดวงตาก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ ดวงตาและแขนขาจึงต้องทำงานร่วมกันอย่างแยกไม่ได้ ปัญญาและกรุณาต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวจึงจะเป็นการตรัสรู้ที่สมบูรณ์

พระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ ซึ่งเป็นผลรวมของพระพุทธศาสนาและลัทธิตันตระนั้น มีทรรศนะในเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ตามคำสอนของพระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนซึ่งรักษาศีลห้า สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองได้โดยมิได้ละเมิดคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด สำหรับฆราวาสแล้วศีลข้อที่สามห้ามเพียงมิให้มีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสเท่านั้น

พระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระถือว่า เรื่องเพศเป็น “วิถีทาง” หรือ “อุบาย” อย่างหนึ่งในการเดินทางไปสู่การตรัสรู้

แทนที่จะไม่เอ่ยถึงและปล่อยให้ฆราวาสเกี่ยวข้องกับกามคุณอย่างไร้ทิศทาง พระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระกลับสอนให้สาวกเข้าหากามคุณด้วย “สติ” เพื่อที่จะเรียนรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของมัน และเพื่อว่าจะเอาชนะมันได้ในที่สุด พระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระอุปมาว่า เพื่อที่จะเอาน้ำออกจากหู เราต้องกรอกน้ำเข้าไปในหูอีก หนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่ง ดังนั้นในการเอาชนะกามคุณ เราต้องรู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของมัน ถ้าเราไม่รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของมันแล้ว ก็ย่อมไม่อาจอยู่เหนือมันได้

สำหรับบรรพชิตผู้ครองเพศพรหมจรรย์จะต้องใช้วิธีการอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากกิเลสทั้งหลายรวมทั้งกามคุณด้วยนั้นเกิดขึ้นจาก “ความคิด

พระพุทธศาสนาจึงสอนให้สานุศิษย์เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของความคิด เพื่อที่จะ “เห็น” ความคิดและตัดกระแสของความคิดได้นั้น “สติ” เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น “การเจริญสติ” จึงเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามในพระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ การเพ่งภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ บางครั้งก็ถูกนำมาใช้ในระหว่างการทำสมาธิภาวนา เพื่อการอยู่เหนือกามคุณทั้งปวง

การยกย่องเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิงให้มีความสำคัญเทียบเท่ากับเทพเจ้าเพศชายในพระพุทธศาสนาฝ่ายตันตระนั้น
 
ได้ให้พื้นฐานที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสมอภาคในด้านศาสนา พระพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน หรือตันตระ ได้เผยแผ่และตั้งมั่นอยู่บนที่ราบสูงทิเบตเป็นหลักใหญ่ ชาวทิเบตแต่ดั้งเดิมนั้นเป็นชนเผ่าเร่ร่อนและเชี่ยวชาญการรบพุ่ง อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อวัฒนธรรมทิเบตมายาวนานกว่า ๒,๐๐๐ ปี และได้เปลี่ยนชนเผ่าเร่ร่อนที่ดุร้ายนี้ให้กลายเป็นชาวทิเบตผู้รักสันติในปัจจุบัน
 


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์