ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 แจ้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย
ว่าผลการพิจารณาการจ่ายเงินโบนัสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า อปท.ยังไม่มีระเบียบรองรับ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้ อปท.จ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่น สำหรับพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นกรณีพิเศษ อปท.จึงไม่อาจตั้งจ่ายได้นั้น จากการตรวจสอบสาระสำคัญในการวินิจฉัยดังกล่าวพบว่า หากกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรให้ อปท.จ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นสำหรับพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นกรณีพิเศษได้ กระทรวงมหาดไทยต้องออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยเพื่อกำหนดให้เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นสำหรับพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นกรณีพิเศษเป็นรายจ่ายของ อปท.โดยในการออกระเบียบดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยสามารถกำหนดเงื่อนไขไว้ได้ตามที่เห็นสมควร เช่น การกำหนดห้ามนำเงินสะสมมาจ่ายเป็นเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นสำหรับพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นกรณีพิเศษ
และเมื่อกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.)
และคณะกรรมการอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฯ จึงจะเป็นผู้กำหนดวิธีการจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นสำหรับพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นกรณีพิเศษ และเมื่อกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบดังกล่าวแล้วจะให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับความจำเป็นซึ่งกระทรวงมหาดไทยต้องเป็นผู้พิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกายังตั้งข้อสังเกตเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทยว่า
โดยที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในมาตรา 282 ว่า "การกำกับดูแล อปท.ต้องทำเท่าที่จำเป็นและมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ชัดเจนสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบของ อปท. ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ..." ดังนั้น การดำเนินการต่างๆ กระทรวงมหาดไทยจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ในเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต้องออกเป็นระเบียบ กระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องออกเป็นระเบียบจะอาศัยแต่เพียงอำนาจในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลเพื่อออกหนังสือสั่งการให้ อปท.ปฏิบัติตามมิได้ เพราะหนังสือสั่งการไม่มีผลทางกฎหมาย ผูกพันหรือคุ้มครอง อปท.ในการปฏิบัติตามหนังสือสั่งการนั้น
(ที่มา:มติชนรายวัน 14 ก.พ.2556)