โทษหลักสูตรเด็กไม่รู้วิธีแก้ท้องวัยเรียน
นักวิชาการชี้โจ๋ไทยกว่า 1 แสนคน ประสบปัญหาท้องในวัยเรียน
อัดหลักสูตรการศึกษาล้มเหลว มุ่งวิชาการจนลืมแนะวิธีแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม
ผลพวงจากปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นไทยได้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลวันวาเลนไทน์ พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ "เมื่อวัยเรียนก้าวพลาดในความรัก เราจะตั้งหลักกันอย่างไร"
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ข้อมูลระบุว่า ขณะนี้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั่วประเทศ 15 ล้านคน มีกว่า 1 แสนคน ประสบปัญหาท้องในวัยเรียน ซึ่งกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ประมาณ 5 หมื่นคน ได้กลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรมกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากถูกกดดันจากสังคมและถูกตีตราว่าเป็นเด็กไม่ดี เป็นเด็กที่สร้างปัญหาให้แก่สังคม จึงส่งผลให้กลุ่มเด็กหญิงที่ก้าวพลาดคิดว่าตนเองได้ทำความผิดที่ร้ายแรง ในที่สุดจึงหลงเดินทางผิดมากขึ้น เพราะคิดว่ายังไงเขาก็ถูกสังคมตัดสินความผิดไปแล้ว
ขณะเดียวกันหลักสูตรการศึกษาในประเทศไทยยังขาดเรื่องการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความรักในวัยเรียน ทำให้การเรียนการสอนในสถานศึกษามุ่งเน้นเพียงแต่ด้านวิชาการ เด็กนักเรียนจึงขาดความพร้อมด้านทักษะในการดำเนินชีวิต ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงควรพิจารณาเพิ่มหลักสูตรในสถานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เพราะการใช้ชีวิตจริงในสังคมบางครั้งเด็กที่เรียนไม่เก่งอาจสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าพวกเรียนเก่ง ตัวอย่างก็มีให้เห็นไม่น้อย
"สถิติเกี่ยวกับปัญหาท้องในวัยเรียนของเด็กไทยพุ่งเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของเรายังไม่ถูกจุด นอกจากนี้สังคมไทยก็ไม่เคยคิดถึงการไปเก็บข้อมูลเด็กที่ท้องไม่พร้อม แต่สามารถกลับมายืนหยัดในสังคม และกลายเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่สังคมว่า เขาเหล่านั้นยังมีโอกาสปรับตัว ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้มีเพียงแต่มุ่งเป้าว่า เด็กที่ทำผิดเป็นคนไม่ได้ โดยลืมมองไปว่าผู้ใหญ่เองนั่นแหละเป็นตัวต้นเหตุของปัญหา" นางทิชากล่าว
สอดคล้องกับ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ผู้ใหญ่ต้องเลิกพูดว่าเด็กเป็นจำเลยของสังคม แม้ในความเป็นจริงส่วนหนึ่งเด็กก็ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด เนื่องจากการตำหนิอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดประโยชน์
ขณะที่ น.ส.เอ (นามสมมุติ) อายุ 24 ปี กล่าวว่า ช่วงวัยเรียนตนเป็นเด็กที่เรียนดี เกรดเฉลี่ย 3.9 เกือบทุกเทอม แต่เพราะรักในวัยเรียนทำให้ใช้ชีวิตก้าวเดินไปในทางที่ผิด วันนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตคือ การไปฉลองเรียนจบ ม.6 กับเพื่อนและแฟน ด้วยความที่ไม่เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เมื่อลองดื่มทำให้เมาขาดสติจนพลาดตั้งครรภ์ พอรู้ว่าตั้งครรภ์ก็ตกใจและทำอะไรไม่ถูก ไม่คิดว่าการกระทำแค่ครั้งเดียวจะเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตมากขนาดนี้ เพื่อนแนะนำให้ไปเอาเด็กออก แต่ตัดสินใจเล่าความจริงให้พ่อกับแม่ฟัง ที่บ้านก็เสียใจมาก เพราะเป็นลูกคนเดียว จากนั้นไม่นานผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายก็ปรึกษาและตกลงให้แต่งงานกัน ใช้ชีวิตอยู่กับแฟนได้เพียง 2 ปี มีปัญหาทะเลาะกันบ่อยครั้ง จนสุดท้ายเลือกที่จะแยกทางกัน
"ตอนนี้เลี้ยงดูลูกเอง ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ให้ลูก และตั้งใจไว้ว่าจะเรียนต่อให้จบปริญญาตรี เพื่อเป็นของขวัญให้พ่อและแม่ สิ่งที่ทำให้ลุกขึ้นมาสู้ชีวิตก้าวเดินต่อไปได้ก็เพราะลูก ลูกเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง อยากฝากไปถึงผู้ใหญ่ว่า เมื่อลูกหลานมีปัญหา ไม่ควรโทษเด็กอย่างเดียว โดยเฉพาะการตบตีด่าทอยิ่งไม่ควรทำ เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะเด็กอาจจะหลงไปในทางที่ผิดคิดสั้นได้" น.ส.เอกล่าว
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!