เสพยาแก้ไอระบาด! พบเปิดเฟซบุ๊กขาย-สอนผสมสูตรใหม่
เสพยาแก้ไอระบาด! พบเปิดเฟซบุ๊กขาย-สอนวิธีผสมสูตรใหม่ ๆ ชี้ ยาซื้อง่าย ขายคล่อง มีบริการเดลิเวอรี่ ส่งตรงถึงบ้าน
วานนี้ (7 กุมภาพันธ์) ทางหนังสือพิมพ์หอข่าว จัดทำโดย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เกาะติดพฤติกรรมการใช้ยาแก้ไอในทางที่ผิดของกลุ่มวัยรุ่นทั่วกรุงเทพฯ โดยทำการตรวจสอบการใช้ยาแก้ไอยี่ห้อที่นิยมดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์กูเกิล และเฟซบุ๊ก ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า แฟนเพจหลายเพจได้โพสต์ภาพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาแก้ไอผิดวัตถุประสงค์ แถมบางแฟนเพจยังใช้เฟซบุ๊กในการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการใช้ยาแก้ไอ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ขาย การทำสูตรใหม่ ๆ รายละเอียดของยาแก้ไอ เป็นต้น
หนังสือพิมพ์หอข่าว ยังระบุว่า มีการแนะนำหากสมาชิกคนใดที่ต้องการยา แต่หาซื้อไม่ได้ ก็ได้โพสต์ข้อความทิ้งเอาไว้จะมีสมาชิกมาคอยตอบ นอกจากนี้ สมาชิกบางรายยังประกาศขายยาเป็นชุด ๆ ผสมพร้อมสรรพครบครัน โดยให้ติดต่อทางโทรศัพท์ หรือให้กดเพิ่มเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก อาทิ "ท่านใดอยู่แถวรังสิต สนใจโปรเดลิเวอรี่ ชุด 150 จัดส่งช่วงเย็นเป็นต้นไป เม็ดม่วง (Alprazolam) เม็ดละ 20 บาท 080251xxxx เป้ครับ เม็ดม่วงแล้วแต่นะครับเพราะของมันขาดบ่อยครับ"
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวหอข่าว ได้ทำการแอบเจาะลึกข้อมูลด้วยการสนทนากับสมาชิกในแฟนเพจดังกล่าว ก็ทราบว่า เขาได้ทานยาแก้ไออยู่เป็นประจำ และได้ขายทั้งยาเม็ดและยาน้ำให้คนที่ต้องการ โดยเขาจะสั่งมาครั้งละจำนวนมาก ๆ จากร้านขายยาย่านจรัญสนิทวงศ์ เพื่อรับประทานเองและนำไปจำหน่ายด้วย เหตุที่ซื้อร้านนี้เพราะยามีราคาถูก และถ้าสั่งเป็นลังก็จะถูกมากขึ้นไปอีก โดยยาน้ำ 1 ลัง ราคาจะอยู่ที่ 4,800 บาท มี 48 ขวด ส่วนยาเม็ดแผงละ 25 บาท ทำมาแบ่งขายราคาชุดละ 140 บาท ซึ่งมียาน้ำ 1 ขวด และยาเม็ด 1 แผง อีกทั้งระบุว่า จะไม่ขายให้กับคนแปลกหน้าเกิน 2 ชุด ส่วนลูกค้าประจำซื้อมากเท่าไรก็ซื้อได้
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้ลงพื้นที่สำรวจร้านขายยาต่าง ๆ ที่สมาชิกในเพจได้บอกกล่าวไว้ จำนวน 9 ร้าน ได้แก่ จรัญสนิทวงศ์ ห้วยขวาง ประชาสงเคราะห์ อินทามระ พหลโยธิน บางเขน และรามคำแหง พบว่าร้านขายยาทั้ง 9 ร้านมีการจำหน่ายยาแก้ไอจริง และเกือบทุกร้านจะมีการจำหน่ายจัดยาแก้ไอเป็นชุด ๆ สำหรับขายให้กลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ ในหนึ่งชุดประกอบด้วย ยาน้ำ 1 ขวด และยาเม็ดจำนวนหนึ่ง โดยที่ผู้สื่อข่าวไม่ต้องบอกอาการเจ็บป่วย และทางร้านก็ไม่ถามถึงเรื่องอาการใด ๆ เลย แถมบางร้านก็ใช้วิธีการจัดส่งโดยไม่ต้องไปซื้อด้วยตัวเอง เพราะมีบริการนัดแนะนอกสถานที่ บ้างก็จัดส่งให้ถึงบ้าน
และเมื่อทางหนังสือพิมพ์หอข่าว ได้ติดต่อสอบถามไปยังเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ใช้ยาแก้ไอ ทราบว่า อายุ 17 ปี รับประทานยาแก้ไอมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะเพื่อนแนะนำให้ลอง โดยซื้อจากร้านขายยาแถวบ้าน เมื่อเข้าไปก็สั่งชื่อยา ทางร้านก็จะจัดยาน้ำกับแคปซูลมาให้ ราคาจะตกประมาณ 60-70 บาทต่อชุด ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของยา และหากรับประทานผสมกับน้ำอัดลมก็จะทำให้เกิดอาการมึนเมา และมีอาการกระตุกเล็กน้อยในเวลานอน
อย่างไรก็ดี เมื่อทางไอซีทีทราบข่าว ก็ได้ทำการเตือนให้หยุดการเผยแพร่การใช้ยาแก้ไอแบบผิด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความ หรือโพสต์รูปของยา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากไม่พบว่ามีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็ต้องประสานข้อมูลไปยัง อย. เพื่อให้ อย. ตรวจสอบว่า ยาตัวนั้นเป็นยาต้องห้าม และมีใบอนุญาตยาหรือไม่
ส่วนทางด้าน เภสัชกรหญิงสิริกัญญา กอบวรรธนะกุล หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกร วชิรพยาบาล ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า กลุ่มวัยรุ่นมักรับประทานยาแก้ไอเพื่อหวังผลจากฤทธิ์ของยา โดยตัวยาจะมีส่วนผสมของ "โคเดอีน" ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารเสพติด ถ้าหากรับประทานน้อย ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด หรืออาการไอ แต่ถ้าหากรับประทานในปริมาณมาก ก็จะทำให้เกิดอาการเสพติด
พร้อมกันนี้ นายวราวุธ เสริมสินสิริ เภสัชกรชำนาญการสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของยาแก้ไอและยาทรามาดอลอยู่ในมาตรการในการจับตามองและควบคุม อย่างเช่น ยาแก้ไอตอนนี้ ทาง อย. ก็ได้ใช้มาตรการการควบคุมการจำหน่ายแก่ร้านขายยา โดยร้านขายยาร้านหนึ่งจะสามารถซื้อยาแก้ไอได้เพียง 300 ขวดต่อเดือนเท่านั้น ไม่สามารถซื้อเกินกว่านี้ได้
แต่ในทางด้านกฎหมาย หากพบว่ามีการฝ่าฝืนนั้น จะมีการลงโทษไม่หนัก เพราะอยู่ในกลุ่มของยาอันตรายจ่ายโดยเภสัชกร โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ และยาพวกนี้ไม่มีสถานภาพเป็นยาเสพติด แต่กลุ่มวัยรุ่นนั้น นำไปใช้โดยหวังผลอาการข้างเคียงจากการใช้ยา โทษจึงไม่หนักเหมือนยาเสพติดให้โทษ ซึ่ง "ยาแก้ปวดทรามาดอล" จะมีลักษณะทำให้เกิดอาการเคลิ้ม มึนงง เมื่อทานร่วมกับยาน้ำแก้ไอที่มี "แอนตี้ฮิสตามีน" (Antihistamine) ก็จะทำให้เกิดอาการเสริมฤทธิ์กันของยาทำให้อาการข้างเคียงเพิ่มมากขึ้น
ส่วนยาอีกชนิดที่วัยรุ่นใช้แทนตัว "ยาแก้ปวดทรามาดอล" หรือใช้รับประทานเสริมเข้าไปก็คือ "อัลปราโซแลม" ซึ่งยาตัวนี้จัดอยู่ในประเภทวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท การจำหน่ายโดยไม่ขออนุญาตเป็นความผิดอย่างแน่นอนและมีโทษทางกฎหมาย ต้องมีใบสั่งแพทย์ประกอบทุกครั้งในการจำหน่าย ซึ่งในอนาคตยาตัวนี้จะถูกยกระดับห้ามจำหน่ายในร้านขายยา
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีการประกาศขายยาแก้ไอจำนวนมากในเฟซบุ๊กนั้น อาจจะเป็นเพราะรับยามาจากหลาย ๆ ร้านรวมกัน แล้วนำมาจำหน่าย เพราะโดยหลักแล้วจะขายได้เพียง 300 ขวดต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งการจำหน่ายในเฟซบุ๊กลักษณะนี้มีความผิดทางกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับ ส่วนการจัดจำหน่ายยาแก้ไอเป็นชุดนั้นถ้าหากผู้ขาย ๆ ในขณะที่เภสัชกรไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตัวคนขายก็จะมีความผิดทางกฎหมาย