สูตรอภิรักษ์รักษาแชมป์ผู้ว่าฯ56 ปั้นสุขุมพันธุ์ในโลกออนไลน์1.5 ล้านเสียง ผมว่าเป็นไปได้
ก่อนถึงวาระที่คนเมืองหลวงตบเท้าเข้าคูหาเลือกตั้ง ส่งมอบกุญแจเมืองให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯคนใหม่บริหารงานไปอีก 4 ปีเต็ม
พรรค ประชาธิปัตย์ (ปชป.) เจ้าของพื้นที่ ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รักษาเก้าอี้เป็นสมัยที่ 2 ขณะที่ผู้ท้าชิงรายใหญ่ พรรคเพื่อไทย เลือกใช้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตรอง ผบ.ตร. เพื่อทวงคืนตำแหน่งที่ ปชป.ครองมายาวกว่า 9 ปี
ความยากในการรักษาแชมป์ของ ปชป.อยู่ที่อาการบอบช้ำ-บาดแผลทางการเมืองของ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" กลายเป็นจุดอ่อนที่พรรคต้องประเมินและวางกลไกขับเคลื่อนอย่างมียุทธวิธี
ส่วน "พงศพัศ" และผู้สมัครอิสระอีกจำนวนหนึ่ง นับว่ามีโอกาสช่วงชิงพื้นที่ได้จากฟอร์มสด-ใหม่ ถือเป็นจุดแข็งที่สอดคล้องกับรสนิยมคนกรุงเทพฯ ที่มักจะชอบลองของใหม่อยู่เสมอ
เมื่อพลิกประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่เคยครองเก้าอี้ตัวนี้ติดกัน 2 สมัยซ้อน คนหนึ่งชื่อ "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" ในช่วงปี 2528-2535 อีกคนชื่อ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ในช่วงปี 2547-2551
ประชาชาติธุรกิจสนทนากับ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดสูตรหาเสียงยุค 2556 พิสูจน์ทฤษฎีรักษาแชมป์ และปัจจัยเสี่ยงที่พรรคอาจเสียเก้าอี้ให้กับพรรคเพื่อไทย
- อะไรคือข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้
กทม.เป็น มหานครขนาดใหญ่ มีประชากรรวม 10 ล้านคน ดังนั้นผู้ว่าฯต้องมีประสบการณ์การทำงานเป็นสำคัญ คุณชายเองมีจุดแข็งที่ประสบการณ์ทางการเมือง เคยเป็น ส.ส. 4 สมัย เคยเป็น รมช.ต่างประเทศ ประกอบกับประสบการณ์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯมาแล้ว 4 ปี ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับภัยการเมือง ภัยธรรมชาติกับประชาชนมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้ท่านรู้ปัญหา กทม.เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น สิ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน คือโครงสร้างการทำงานของ กทม.จำเป็นต้องประสานงานกับสภา กทม. ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มี ส.ก.ทั้งหมด 46 คน จาก 61 คน เรามี ส.ข.อีก 200 กว่าคน ถือว่าเป็นเสียงข้างมาก และหมายความว่าเรามีตัวแทนพรรคทำงานใกล้ชิดประชาชนเกือบ 50 เขต
ส่วน จุดอ่อนของคุณชาย เป็นที่ทราบดีว่า เขาเป็นคนไม่ค่อยพูด เน้นทำงานเป็นหลัก ดังนั้นจึงมีปัญหาเรื่องการชี้แจง การประชาสัมพันธ์ คนจึงเข้าใจว่า ทำงานมา 4 ปี ท่านไม่ค่อยมีผลงาน ยกตัวอย่าง รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง ทั้งแบริ่ง ฝั่งธนบุรีก็เกิดในยุคท่าน น้ำท่วมก็ถูกหยิบยกเข้ามาโจมตี ทั้งที่เราปกป้องเขตเศรษฐกิจได้ ทั้งหมดนับว่าเป็นจุดอ่อนที่คนไม่ค่อยรู้กันในวงกว้าง
ด้าน Opportunities หรือโอกาสของคุณชาย มาจากการที่ท่านมีองคาพยพ ปชป.ในเครือข่ายโครงสร้าง กทม.ค่อนข้างเยอะ จะทำให้งานพัฒนาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่ลำพังแค่นี้อาจจะไม่พอ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน
นั่นคือที่มาของแคมเปญ "รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ"
สุด ท้าย Threats หรืออุปสรรค แน่นอนว่า ท่านถูกโจมตีทางการเมืองมาตลอด 1 ปีนี้ ทุกปัญหาถูกหยิบยกขึ้นมาทันที ทั้งกล้องดัมมี สนามฟุตซอล รวมถึงการชี้แจงข้อกล่าวหาโดยดีเอสไอ ซึ่งพวกผมมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากเป็นการดิสเครดิตทางการเมือง
- จะปลดล็อกปัญหา-อุปสรรคของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์อย่างไร
อย่าง ประเด็นการเมืองที่เป็นข้อกล่าวหา พูดตามตรง คนก็ยังไม่เข้าใจ ยังไม่ได้รับการสื่อสารที่ดี ทั้งที่เราชี้แจงได้ทุกประเด็น วิธีที่ดีที่สุดตอนนี้ คือให้อาสาสมัครคอยอธิบายให้กับชุมชน ใช้เว็บไซต์ในการชี้แจง พูดกันตามตรง เราก็ไม่อยากจะเสียเวลามานั่งแก้ข้อกล่าวหาเหล่านี้จนไม่มีโอกาสได้พูด เรื่องใหม่ ๆ
ต้องยอมรับว่า สิ่งที่ประชาชนได้อ่านผ่านสื่อส่วนใหญ่เป็นข่าวในเชิงลบ การทำงานด้านบวกมักจะไม่เป็นข่าว ยกตัวอย่าง ขณะที่เราเจอทั้งวิกฤตการเมือง เจอน้ำท่วม แต่ กทม.ก็ได้รับโหวตให้เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวของโลก 3 ปีซ้อน เราได้รับโหวตให้เป็นเมืองหนังสือโลกจากยูเนสโก และหลายท่านอาจไม่ทราบว่าท่านได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาพันธ์นายกเทศมนตรี แห่งเอเชีย นั่นหมายความว่าท่านเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ของมหานครแห่งเอเชีย
เมื่อ เป็นเช่นนี้ เราจำเป็นต้องหาช่องทางการสื่อสารเพิ่มเติม จะเห็นได้ว่าการหาเสียงครั้งนี้ เรานำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียที่มีการอัพเดตความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิลพลัส และอินสตาแกรม
- ทำไมถึงคิดว่าการหาเสียงในโลกออนไลน์จะประสบความสำเร็จ
สมัย ก่อนเราประเมินปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนอยู่ที่ตัวผู้สมัคร นโยบาย พรรค ทีมงาน และกระแสของการลงพื้นที่ แต่ตอนนี้สังคมออนไลน์ถือว่าเป็นปัจจัยที่หก ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน หากเทียบเทคนิคการหาเสียงในยุคก่อน เราแค่ติดป้าย จัดรถแห่ เกณฑ์อาสาสมัคร และแจกใบปลิว แต่ตอนนี้เรามีอีกพื้นที่หนึ่งที่ผู้สมัครทุกคนต้องต่อสู้กัน คือในโลกออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์แบบ พรรคเรามีทีมงานคอยมอนิเตอร์ ตอบข้อซักถาม และประมวลความคิดเห็นในโลกออนไลน์อย่างเป็นระยะ และนอกจากนี้ได้เห็นพ้องกับคุณชายว่าจะเปิด application ตัวใหม่ เพื่อให้ประชาชน
เข้ามาร่วมเสนอความเห็นต่อนโยบายในแต่ละเรื่อง โดยทุกวันอาทิตย์ คุณชายก็จะเข้ามาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง
- ประเมินว่าจะเปลี่ยนเสียงในโลกออนไลน์กลายเป็นโหวตเตอร์ได้เท่าไร
สมัย ก่อนเราอาจจะมองว่าสังคมออนไลน์เป็นเรื่องของเด็ก เป็นเรื่องของวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องยอมรับว่า คนทำงาน มนุษย์เงินเดือน และชนชั้นกลาง ต่างมีเฟซบุ๊กเป็นของตัวเอง วันนี้ทั้งประเทศมีผู้ใช้ 12 ล้านคน เราคิดว่าจะมีฐานเสียงในนี้อยู่ประมาณ 30-40% และเป็นโหวตเตอร์ให้พรรคเราประมาณ 15% หรือประมาณ 1.5 ล้านคน ผมว่ามันเป็นไปได้อยู่แล้ว
- ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ชนะเลือกตั้งคราวก่อน ครั้งนี้จะยังคงเป็นเช่นนั้นหรือไม่
แม้ ว่าเราจะชนะเยอะในครั้งที่แล้ว แต่ต้องยอมรับความจริงว่าในหลายเขตคะแนนยังสูสีกันมาก แน่นอนว่า กทม.ชั้นในเรายังมีความเข้มแข็ง แต่ฝั่งรอบนอก ทั้งทางเหนือและตะวันออก เป็นพื้นที่ที่เราต้องทำงานหนัก นอกจากนั้น เรามีเครือข่าย ส.ส.ที่น้อยลง มี 23 คน จาก 33 เขตเลือกตั้ง ครั้งนี้จึงจำเป็นอย่างมาก ที่ดึงเครือข่าย ส.ก. และ ส.ข.มาช่วยเป็นกำลังสำคัญ
- ประเมินคู่แข่งคนสำคัญอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่สังกัดพรรคเพื่อไทยอย่างไร
การ ชูนโยบายไร้รอยต่อ ผมว่ามันสวนทางกับแนวทางการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่รัฐบาลและ กทม.ดำเนินการมากว่า 30 ปี และมหานครใหญ่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน นิวยอร์ก กรุงโซล หรือโตเกียว ต่างก็ชูนโนยบายให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง นั่นคือที่มาของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ-นายกเทศมนตรี หากพรรคเพื่อไทยต้องการเล่นแคมเปญนี้ ผมแนะนำให้เขากลับไปแต่งตั้งคนของรัฐบาลมาเป็นผู้ว่าฯเลยก็ได้ ไม่ต้องมาเลือกตั้ง เพราะแนวคิดมันสวนทางกัน
- กังวลหรือไม่ ที่ผู้สมัครอิสระจะเข้ามาตัดคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์
จาก การเลือกตั้งครั้งก่อน คะแนนเราห่างกับพรรคเพื่อไทยแค่ 300,000 คะแนน หากจะวิเคราะห์กันวันนี้ ต้องบอกว่าทั้งเราและเขามีเสียงยืนพื้นที่ 500,000-600,000 คน ส่วนผู้สมัครอิสระหลายคนมีฐานเสียงใกล้เคียงกับเรามาก ที่น่ากังวลที่สุดคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. ซึ่งผมคิดว่านี่เพิ่งโค้งแรก ในเรื่อง ของคะแนนยังเปลี่ยนแปลงได้ ทุกวันนี้ ปชป.ไม่ได้คิดว่าตัวเองมี 900,000 คะแนนเหมือนเดิมอีกแล้ว ระยะห่างของ ปชป.กับเพื่อไทยจะไม่ห่างกันมากเหมือนเดิมอีกแล้ว ทั้งพรรคจึงต้องระดมทุกกลไกเข้ามาช่วย
- ผลวิเคราะห์ตามโพลในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาบ่งบอกอะไรได้บ้าง
ผม ว่ามันเป็นแค่โพลแนะนำตัวผู้สมัคร เพราะนี่เพิ่งโค้งแรกเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจในโพล คือยังมีคนไม่ตัดสินใจเลือกอยู่ 30-50% ตรงนี้คือโอกาสที่จะทำให้คะแนนสะวิงโหวตไปทางไหนก็ได้ ดังนั้น การหาเสียงเพิ่งเริ่มต้น ยังมีเวลาอีก 1 เดือนเต็ม เรายังต้องนำเสนอนโยบาย ขึ้นป้ายหาเสียง และขึ้นเวทีปราศรัยกันอย่างหนักหน่วง
- อะไรคือความยากในการรักษาแชมป์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่เป็นอดีตผู้ว่าฯ
คน ที่เคยดำรงตำแหน่งมา 4 ปี ก็มีจุดที่ทำให้คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่แล้ว ทั้งเรื่องที่ไม่ได้ทำ ทั้งเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จ แน่นอนว่า ผู้สมัครหน้าใหม่ทุกคนจะเข้ามาชูกระแสเปลี่ยนกรุงเทพฯ ทำให้คนอยากลองของใหม่ แต่จากประสบการณ์จริงของผม พูดตามตรง การมีความรู้ความเข้าใจในตำแหน่งมาก่อน ถือว่าสำคัญกว่า เพราะผู้ว่าฯคนใหม่ กว่าจะทำความรู้จักข้าราชการ กว่าจะเข้าใจกลไกการบริหารงาน ก็เสียเวลาไป 1 ปีแล้ว ดังนั้น จุดอ่อนนี้ของคุณชาย ถือว่าแลกมาด้วยประสบการณ์
- 1 เดือนสุดท้ายของการหาเสียง ปัจจัยเสี่ยงที่พรรคจะต้องกังวลอยู่ตรงไหน
หลัง จากเราเปิดนโยบาย 10 เรื่องเร่งด่วน และ 6 นโยบายร่วมสร้างกรุงเทพฯ จากนี้เราจะชูแคมเปญ "เลือกสุขุมพันธุ์ เบอร์ 16 กรุงเทพฯเดินหน้าทันที" เพื่อแสดงความพร้อมในการทำงานอย่างเต็มที่ เพราะกระแสการตอบรับในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือในตัวผู้สมัคร ถือว่าสำคัญที่สุด
อย่าลืมว่า ประชาชนเลือกคนมาเป็นผู้ว่าฯ ไม่ได้เลือกจากว่าใครพูดเก่ง หรือมีสีสันมากกว่ากัน แต่เขาเลือกจากคนที่พร้อมทำงาน และมีความมุ่งมั่นในการบริหารโครงสร้างมหานครขนาดใหญ่ นั่นคือเรื่องที่สำคัญที่สุด