เด็กๆเฮ! สพฐ.สั่งครูลดการบ้าน

ภาพจาก เดลินิวส์ภาพจาก เดลินิวส์


ไม่สามารถให้การบ้านเด็กตามใจชอบอีกต่อไป ถ้าให้จนเกิดความทุกข์ทรมานของลูกศิษย์ สามารถร้องเรียนได้ที่สพฐ.

 เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าที่ประชุมได้หารือเรื่องการปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 ตามนโยบายของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ โดยจะมีการดำเนินการใน 2 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน ซึ่งจะดำเนินการให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โดยในระยะนี้ สพฐ.จะเน้นบูรณาการทั้งเนื้อหา เวลาเรียน การวัดและประเมินผล ตลอดจนการบ้านที่ต้องมีการบูรณาการทุกกลุ่มสาระวิชา และจะต้องลดภาระงานของนักเรียนด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยต้องทำการบ้านเยอะมาก ทำให้เด็กเกิดความเครียด ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ไปจัดทำคู่มือการบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนแบบครบวงจรให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.56 จากนั้นจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเขตพื้นที่การศึกษา และครู เพื่อให้มีความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน
 

"ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 เป็นต้นไป เด็กไทยทุกคนในทุกระดับชั้นจะมีภาระการเรียนในห้องเรียนลดน้อยลง และจะมีโอกาสเรียนรู้ รวมถึงทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น ส่วนการบ้าน และโครงงานที่ครูมอบให้จะมีการบูรณาการในทุกกลุ่มสาระวิชา ขณะที่การวัดและประเมินผลก็จะสอบเท่าที่จำเป็น และเหมาะกับช่วงวัยเท่านั้น ดังนั้นตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ งานทุกอย่างของเด็กจะลดลงทั้งหมด และจะไม่ใช่วิธีการที่ครูจะมีอำนาจเหนือนักเรียน โดยครูจะไม่สามารถให้การบ้านเด็กได้ตามใจชอบอีกต่อไป ถ้าครูให้การบ้านเด็กจนเกินความทุกข์ทรมานของเด็กก็สามารถร้องเรียนมาได้ที่ สพฐ. เพื่อให้เกิดการปรับปรุงต่อไป" นายชินภัทร กล่าว 
 

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนระยะที่ 2 ระยะถัดไป สพฐ. จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 6-8 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาทบทวนมาตรฐาน และตัวชี้วัดของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้วิพากษ์วิจารณ์ว่ามีมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดใดบ้างที่มีมากเกินความจำเป็น เพื่อที่จะได้ตัดทอน และปรับปรุงต่อไป นอกจากนี้จะมีการนำเสนอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในเรื่องเนื้อหา และเวลาเรียนของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามกรณีที่มีนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเนื้อหาในหลักสูตรการเรียนการสอนมีความซ้ำซ้อน 30% นั้น ตนมองว่าเป็นเพียงแค่ความรู้สึก ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาหารือด้วย โดยให้ทุกฝ่ายได้นำข้อมูลมาตีแผ่ และวิพากษ์วิจารณ์กันด้วยว่ามีความซ้ำซ้อนจริงหรือไม่ และจะช่วยลดความซ้ำซ้อนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากซ้ำซ้อนจริงตนก็ตั้งเป้าว่าจะลดความซ้ำซ้อนให้มากที่สุด
 

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์