อย.คุมเข้มซื้อ-ขายยาเสียสาว หลังพบใช้ในทางที่ผิดเพิ่มสูงต่อเนื่อง
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ อย.คุมเข้มซื้อ-ขายยาเสียสาว หลังพบใช้ในทางที่ผิดเพิ่มสูงต่อเนื่อง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต(ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาข่าว)
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เปิดเผยว่าขณะนี้พบการระบาดของยากล่อมประสาทตัวใหม่ในภาคใต้ โดยสภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จำนวน 2,940 เม็ด พบว่าเป็นสารเคมี ฟีนาซีแพม ซึ่งอยู่ในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ มีฤทธิ์แรงกว่า ไดอาซีแพม ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันถึง 10 เท่า โดยพบว่า ยาฟีนาซีแพม มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วง ซึม มึนงง สับสน สูญเสียการทรงตัว สูญเสียความทรงจำ ออกฤทธิ์ยาวนาน 60 ชั่วโมง
นพ.นิพนธ์กล่าวว่า ยาดังกล่าวถือว่ามีความอันตราย หากได้รับยาในขนาดสูงหรือได้รับเป็นระยะเวลานาน จะเกิดอาการถอนยา และหากใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์หรือสารที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยาแก้ปวดชนิดที่มีส่วนผสมของอนุพันธ์ฝิ่นหรือยานอนหลับตัวอื่น ก็จะทำให้กดระบบประสาทส่วนกลางและอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบการใช้ยากลุ่มฟีนาซีแพมไปในทางที่ผิด มีวิธีการใช้ เช่น กิน อมใต้ลิ้น สูด และฉีดเข้าเส้น โดยพบการรายงานว่า ในสหรัฐมีผู้เสพยาเกินขนาดจนเสียชีวิต
นพ.นิพนธ์กล่าวอีกว่า จากการตรวจตัวอย่างยาที่นำส่งมา มีการระบุว่า เป็นยาไนเมตาซีแพม ซึ่งมีการควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ซึ่งจะขายได้เฉพาะสถานพยาบาลที่ขออนุญาตและต้องมีรายงานการใช้ทุกเดือน แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่า ตัวยาในแผงเป็นยาฟีนาซีแพม ซึ่งยังไม่มีการควบคุมในประเทศไทย การควบคุมและยกระดับยา จะยึดตามประกาศรายชื่อวัตถุออกฤทธิ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบัน ฟีนาซีแพม ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน เนื่องจากตามปกติในทางการแพทย์จะไม่ค่อยใช้ยาดังกล่าวในการรักษาโรคอยู่แล้วเพราะมีข้อถกเถียงถึงประสิทธิภาพ
ด้านเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. กล่าวว่า เตรียมยกระดับการควบคุม สารอัลปราโซแลม หรือยาเสียสาว จากวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 ที่ซื้อขายได้ในร้านขายยา คลินิก สถานพยาบาล ที่ขออนุญาตจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เป็นประเภท 2 ซึ่งอนุญาตให้ขายในสถานพยาบาล และอยู่ภายใต้ความควบคุมของแพทย์เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ขายในร้านขายยา และคลินิก
เนื่องจากพบการกระทำผิดที่มียาอัลปราโซแลมเกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2554 มีถึง 400-500 คดี และพบผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด 3-4 ราย ทำให้มีความจำเป็นในการควบคุมยาดังกล่าวให้ใช้ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยลงนามในประกาศตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2555 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้