อันตราย!ยานอนหลับชนิดใหม่กินถึงตาย

อันตราย!ยานอนหลับชนิดใหม่กินถึงตาย


สธ.ตรวจพบยานอนหลับชนิดใหม่ผสม 'ฟีนาซีแพม' แรงกว่ายานอนหลับที่รู้จักทั่วไป 10 เท่า หลับยาวนาน 60 ชั่วโมง ใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์

 


เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวเรื่องยานอนหลับชนิดใหม่อันตรายถึงชีวิต ว่า ได้รับรายงานมีการลักลอบนำเข้ายานอนหลับชนิดใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ โดย สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยึดของกลางจำนวน 2,940 เม็ด ส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา นำไปตรวจวิเคราะห์ พบว่าด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์คล้ายดาว 4 แฉก และตัวเลข “028” อีกด้านมีตัวเลข “5” บรรจุในแผงพลาสติกใสสีแดง-อะลูมิเนียม บนแผงมีข้อความตัวอักษร “Erimin 5” (อีริมิน 5)
 
จากการตรวจพิสูจน์ของห้องปฏิบัติการสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบ "ฟีนาซีแพม" (Phenazepam หรือ Fenazepam) จัดเป็นยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ (Benzodiazepines) และมีฤทธิ์แรงกว่า "ไดอาซีแพม" (Diazepam) ซึ่งเป็นยานอนหลับที่เป็นที่รู้จักและสามารถซื้อได้ในร้านขายยาโดยมีใบสั่งแพทย์ แต่สารฟีนาซีแพมออกฤทธิ์แรงกว่าถึง 10 เท่า หรือหลับนานกว่า 60 ชั่วโมง ผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวจะมีอาการง่วงซึม มึนงง สับสน สูญเสียการทรงตัว และสูญเสียความทรงจำ หากหยุดยาทันทีหลังได้รับยาขนาดสูง หรือเป็นระยะเวลานานอาจเกิดอาการถอนยา และถ้าใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์ หรือสารที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิแอต เป็นกลุ่มที่ทำจากอนุพันธ์ของฝิ่น หรือยานอนหลับอื่นๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้
 
“ไม่พบไนเมตาซีแพม ซึ่งเป็นส่วนผสมของอีริมิน 5 แต่ตรวจพบฟีนาซีแพม จึงสันนิษฐานว่าอาจมีการนำฟีนาซีแพมมาผลิตเป็นยาอีริมิน 5 ทดแทนไนเมตาซีแพม เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย เนื่องจากฟีนาซีแพมยังไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมในประเทศไทย รวมทั้งในอนุสัญญาสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ขณะที่ไนเมตาซีแพมในประเทศไทยจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 อนุญาตใช้เฉพาะสถานพยาบาลเท่านั้น” นพ.นิพนธ์กล่าว
 
ครั้งแรกในประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2517 และนำไปใช้ในทางการแพทย์ในประเทศรัสเซียและบางประเทศในยุโรปตะวันออก รักษาโรคระบบประสาท และโรคลมชัก ใช้ประมาณ 1-1.5 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบการนำฟีนาซีแพมไปใช้ในทางที่ผิด กลุ่มผู้เสพนิยมเรียกยานี้ว่า "Phenny, P, Bonsai, Bonsai Supersleep และ "7 bromo-5" ส่วนการเสพมีหลายวิธี ได้แก่ การกิน การอมใต้ลิ้น การสูด และการฉีดเข้าเส้น นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบผู้เสพยาชนิดนี้เสียชีวิตจากการได้รับยาเกินขนาด


ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อีริมิน 5 เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัท ซูมิโมโต ฟามาซูติคอลส์ ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยตัวยาสำคัญชื่อ ไนเมตาซีแพม ขนาดยา 5 มิลลิกรัม เป็นยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ อนุญาตให้ใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย ถือเป็นสารควบคุม สำหรับประเทศไทยตัวยาดังกล่าวจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ยานี้ไม่มีการอนุมัติทะเบียนตำรับในประเทศไทย
 
"ยาที่ถูกจับได้จึงเป็นยาที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศอื่นทั้งสิ้น พบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย นิยมเรียกว่า ไฟว์-ไฟว์ (five-five) หรือ แฮปปี้ไฟว์ (Happy 5) สำหรับยาของกลางตรวจพบสารสำคัญไม่ตรงตามที่ระบุไว้ จึงเข้าลักษณะของวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท ส่วนผู้ผลิต หรือผู้นำเข้ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท ไม่สามารถเอาผิดในเรื่องการผสมสารฟีนาซีแพมได้ เนื่องจากสารชนิดนี้ยังไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมในประเทศไทย และในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพราะยังไม่มีการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์" นพ.บุญชัยกล่าว
 
เลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า ภายในปลายเดือนมกราคมนี้ จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเพื่อจัดให้สารฟีนาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ใช้ได้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น ก่อนนำเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข ออกเป็นประกาศต่อไป
 
ขณะที่ พล.ต.ต.สุวิทย์ เชิญศิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา (ผบก.ภ.จว.สงขลา) ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดข้อมูลของ “ฟีนาซีแพม” ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้นำส่งตรวจสอบ รวมถึงอยู่ระหว่างการตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของการตรวจยึดยานอนหลับชนิดนี้อย่างเร่งด่วน
 
 "ผมยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก เบื้องต้นจะตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งว่า มีการจับกุมได้เมื่อไหร่ ที่สำคัญมีการใช้แพร่ระบาดกันจริงหรือไม่ หากเป็นยาที่มีอันตรายรุนแรงจริง จำเป็นต้องเข้มงวดกวดขันมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำมาใช้ก่ออาชญากรรม" พล.ต.ต.สุวิทย์กล่าว
 
ส่วน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด อย. กล่าวว่า ยานอนหลับอีกหนึ่งกลุ่ม คือ อัลปราโซแลม (Alprazolam) ซึ่งมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือเรียกว่า "ยาเสียสาว" ขณะนี้ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 เรื่องเปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 โดยให้ยกระดับอัลปราโซแลมจากวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 เป็นประเภท 2 ใช้ได้เฉพาะในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนเท่านั้น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2556 ดังนั้น ร้านขายยาที่มีใบอนุญาตให้จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 3 หรือ 4 จะต้องส่งยาอัลปราโซแลมคืนผู้ผลิตทั้งหมดภายในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ส่วนสถานพยาบาลที่พิจารณาแล้วว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้ก็ต้องส่งคืนกลับผู้ผลิต
 
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการสำรวจของ อย. พบคดีเกี่ยวกับยาอัลปราโซแลม เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2554-2555 รวมประมาณ 400-500 คดี มีผู้ตกเป็นเหยื่อเสียชีวิต 3-4 คดี คดีล่าสุดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่พัทยา จ.ชลบุรี สำหรับฤทธิ์ของยาดังกล่าวทำให้มึน งง หัวใจเต้นเร็ว ขาดสติ หากนำไปผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเสริมฤทธิ์ให้มีความรุนแรง เป็นเหตุให้มีการนำไปใช้ในการล่อลวงผู้หญิง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์