จากกรณีนายสกล สนธิรัตน ช่างภาพเครือเนชั่น ประจำรัฐสภา เกิดอาการป่วยจากโรคความดันโลหิตสูง ทำให้มีเลือดไหลซึมออกจากแกนสมอง เกิดอาการวูบขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่รัฐสภา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 10 ม.ค. แต่ถูกหน่วยพยาบาลประจำรัฐสภาปฏิเสธไม่นำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที อ้างว่าต้องเตรียมพร้อมรถพยาบาลไว้สำหรับ ส.ส.และ ส.ว. เท่านั้น
กระทั่งนายฉลาด จันทร์เดช ช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชน และประธานชมรมช่างภาพการเมือง เห็นอาการไม่น่าไว้วางใจ จึงโทรศัพท์ร้องขอให้ น.พ.สามารถ ตันอริยกุล ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร ส่งรถพยาบาลมานำตัวส่งโรงพยาลกลางทันที
โดยต่อมาแพทย์ได้ตรวจพบว่ามีเลือดไหลออกจากแกนสมองเป็นจำนวนมากจึงต้องทำการผ่าตัดถึง 2 รอบ เพื่อเอาเลือดที่คั่งอยู่ในโพรงน้ำในสมองออก และต่อสายยางระบายน้ำออกจากโพรงน้ำสมอง แต่เวลาผ่านมา 4 วัน เจ้าตัวยังไม่มีอาการตอบสนองต่อการกระตุ้นแต่อย่างใด ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
วันนี้ (14 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณหน้าหอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม ชั้น 6 โรงพยาบาลกลาง ว่า ญาติของนายสกล ยังคงเฝ้าติดตามอาการของนายสกลอยู่อย่างใกล้ชิดตลอดทั้งวัน โดยมีเหล่าบรรดาพี่น้องสื่อมวลชนที่รู้จักคุ้นเคยกับนายสกลผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเดินทางมาเยี่ยมและได้กำลังใจกันอย่างต่อเนื่อง
โดย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.ในฐานะเลขาฯ ป.ป.ส.และว่าที่ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้านำกระเช้าดอกไม้เข้าเยี่ยมนายสกล พร้อมทั้งมอบเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่งไว้กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่นด้วย
พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า ที่มาเยี่ยมนายสกลในวันนี้ ก็เพราะอยากมาเป็นกำลังใจให้หายโดยเร็ว เพราะเคยเจอกันอยู่ในการทำงาน แม้ตนจะไปทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภาไม่กี่ครั้ง แต่ก็จำนายสกลได้แม่น ตนทราบดีว่าอาชีพนี้นั้นเหน็ดเหนื่อย บางครั้งก็เครียดจากการทำงาน เมื่อเจ็บป่วยไปทุกฝ่ายก็เห็นอกเห็นใจ แต่นายสกล ก็ได้ทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ด้วยความเสียสละ ทั้งนี้อยากให้ทุกคนช่วยเป็นกำลังใจให้นายสกลหายโดยเร็ว เพื่อจะได้กลับมาทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ตัวเองรัก และทุ่มเทมาตลอดชีวิต
ด้าน นพ.ชัยพล วุฒิโอภาส ประสาทศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลกลาง และแพทย์เจ้าของไข้ ได้รายงานสรุปอาการของนายสกล เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ผ่านมาว่า ผู้ป่วยสามารถควบคุมความดันโลหิตสูงได้ดีขึ้น ยังมีภาวะความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง ยังมีไข้สูงเป็นระยะ สามารถรับอาหารทางสายยางได้ แต่ผู้ป่วยยังไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น ยังต้องรับการดูแลอย่างใกล้ชิด