สื่อนอกเผย กองทุนหมู่บ้านไทย เป็นถังเงินกู้รากหญ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สื่อนอกชี้ กองทุนหมู่บ้านของไทย เป็นกองทุนให้กู้สำหรับประชาชนรายได้น้อยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เม็ดเงินสะพัดมหาศาล ต้นทุนสูงลิบ ขณะที่ทางรัฐแจง โครงการมุ่งให้หมู่บ้านพัฒนา ทั้งยังมีแผนเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 20 ล้านคน ก่อนรัฐบาลครบวาระ
เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา เว็บไซต์ อิโนโนมิสต์ ได้รายงานถึงเรื่อง กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ว่า กองทุนนี้เป็นกองทุนสำหรับกลุ่มคนรากหญ้าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนรายได้น้อยกว่า 120,000 โครงการทั่วโลก โดยแค่เพียงในปี 2554 ก็มียอดเงินกู้ในโครงการนี้คิดเป็นมูลค่าราว 4.9 พันล้านดอลลาร์ (ราว1.47 แสนล้านบาท) แล้ว โดยมีจำนวนผู้กู้ยืมถึง 8.5 ล้านคน และในตอนนี้โครงการดังกล่าวก็กำลังขยายตัวมากขึ้น หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มอีก 7.9 หมื่นล้านบาท ให้แก่เครือข่ายธนาคารหมู่บ้านกว่า 80,000 แห่ง เพื่อสานต่อโครงการที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำไว้ในช่วงระว่าง ปี 2544-2549
สำหรับแนวคิดกองทุนหมู่บ้านนั้น ระบุว่าเพื่อมุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนให้มีพื้นฐานที่เข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน โดยมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นกลไก ศูนย์กลาง และสื่อกลางโครงข่ายการเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา และมีรัฐบาลเป็นผู้อนุมัติเงินกองทุนผ่านกลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในส่วนของการดำเนินการนั้น แต่ละหมู่บ้านที่เขียนโครงการจะเป็นผู้บริหารเงินโดยมีคณะกรรมการที่คัดเลือกภายในหมู่บ้าน เป็นผู้กำหนดอัตราวงเงินกู้และดอกเบี้ย ชาวบ้านมีสิทธิใช้สถานภาพสมาชิกหมู่บ้านในกู้เงินโครงการนี้ เฉลี่ยราว 20,000 บาทต่อคน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นเหมือนสื่อกลางที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเงินทุนในพื้นที่ชนบท จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย มีครัวเรือนกว่า 96.5 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าถึงกองทุนดังกล่าว
ขณะเดียวกัน งานวิจัยของนายโจเซฟ คาบอสกี้ แห่งมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม ฝรั่งเศส และนายโรเบิร์ต ทาวน์เซนด์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า โครงการนี้ได้ทำให้ชาวบ้านในหลายครัวเรือนของไทยกู้ยืมเงินและใช้จ่ายกันมากขึ้น แต่ข้อเสียของโครงการก็คือ เมื่อบริษัทเอกชนที่เปิดกู้ยืมไม่สามารถจะแข่งขันกับกองทุนหมู่บ้านได้เลย ทั้งในเรื่องของต้นทุน ข้อมูล ตลาด รวมทั้งกฎระเบียบอันเข้มงวด ทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า กองทุนหมู่บ้านดังกล่าวนี้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง และ คาบอสกี้ กับ ทาวน์เซนด์ ยังประเมินว่าต้นทุนของโครงการสูงกว่าโครงการที่เอกชนให้กู้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
ด้านนายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เผยว่า เขาไม่เคยได้ยินงานวิจัยของทั้ง 2 คนมาก่อน ส่วนผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนหมู่บ้านนั้น มันไม่สามารถวัดประเมินในรูปแบบทางการเงินได้ และโครงการมีเป้าหมายหลักโดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาภายในหมู่บ้าน
นอกจากนี้ นายนที ยังเผยอีกว่า ก่อนครบวาระของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2559 รัฐบาลมีแผนเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเป็น 20 ล้านคน และให้กองทุนหมู่บ้านเป็นศูนย์บริการครบวงจรเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของหมู่บ้านนั้น ๆ ทั้งยังมีแผนสร้าง "ธนาคารประชาชน" ซึ่งมีลักษณะเป็นธนาคารกลางสำหรับกองทุนหมู่บ้าน และกองทุนแห่งชาติ จะเป็นตัวขับเคลื่อนทางการเงินอีกด้วย โดยรัฐบาลได้เตรียม ถังเงินขนาดยักษ์ เพื่อการนั้นไว้แล้ว