บช.น. กำหนด 17 ข้อหาหลัก คุมเข้มจับ หวังลดอุบัติเหตุ
บช.น. กำหนด 17 ข้อหาหลัก คุมเข้มจับ หวังลดอุบัติเหตุจราจร เผยสถิติอุบัติเหตุลดลง แต่การตายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการขับรถชนคนเดินบนทางเท้า
วันนี้ (7 มกราคม) พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) รับผิดชอบงานจราจร สั่งประชุม เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตราย ในเทศกาลปีใหม่ 2556 และการป้องกัน-ลดอุบัติเหตุทางถนน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในทุกเทศกาล ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาล
ทั้งนี้ จากข้อมูลอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตราย ในเทศกาลปีใหม่ 2556 ที่ผ่านมา ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีการรับแจ้งอุบัติเหตุ 30 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 28 คน ผู้เสียชีวิต 13 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 นั้น มีการรับแจ้งอุบัติเหตุ 34 ครั้ง ผู้ได้รับบาดเจ็บ 31 คน ผู้เสียชีวิต 12 ราย แสดงให้เห็นว่า มีการเกิดอุบัติเหตุและผู้ได้รับบาดเจ็บลดลง แต่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย
สำหรับสาเหตุใหญ่ที่เกิดอุบัติเหตุนั้น เกิดจากรถยนต์ชนคนเดินทางเท้าถึง 5 ราย อันเป็นผลมาจากผู้ขับเมาสุรา และขับขี่รถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด เพราะถนนโล่ง ประกอบกับคนข้ามถนนไม่เกินข้ามบริเวณทางข้ามหรือสะพานลอย จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากรถยนต์ชนทางเท้าเพียง 1 รายเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ประสบอุบัติเหตุแล้ว เสียชีวิตอีก 5 ราย ส่วนใหญ่มาจากการขับรถขณะเมาสุรา และไม่สวมหมวกนิรภัย
อย่างไรก็ตาม ทาง บช.น. จึงวางมาตรการและกำหนดแนวทางแก้ไข โดยให้ทุก สน. จัดทำโครงการและรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และได้สั่งการให้ ทุก สน. กวดขันวินัยจราจรตามที่ บช.น. กำหนด 17 ข้อหาหลัก ดังนี้
1. ข้อหาแข่งรถในที่สาธารณะ
2. ขับรถเร็ว
3. แซงรถในที่คับขัน
4. เมาแล้วขับ
5. ขับรถย้อนศร
6. ไม่สวมหมวกนิรภัย
7. จอดรถซ้อนคัน
8. ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน
9. ควันดำ
10. จอดรถในที่ห้ามจอด
11. จอดรถบนทางเท้า
12. ขับขี่รถบนทางเท้า
13.ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดง
14. ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
15. ไม่มีใบอนุญาตขับขี่
16. ความผิดเกี่ยวกับอุปกรณ์และส่วนควบของรถ
17. ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่
โดยให้ทุก สน. กวดขันและจับกุมตาม 17 ข้อหาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นข้อหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้ ยังเป็นมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางปลอดภัยทุกเส้นทาง