ที่ศูนย์จัดแสดงสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สวนสัตว์นครราชสีมา เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 ธันวาคม นายกีรติ กันยา นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ 6 หัวหน้างานสัตว์เลื้อยคลาน ฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้นำตุ๊กกายประดับดาว ,ตุ๊กกายท้าวแสนปม และตุ๊กกายหมอบุญส่ง รวมจำนวน 3กลุ่ม ซึ่งถูกค้นพบเป็นชนิดใหม่ของโลก มาจัดแสดง เพื่อสร้างความรู้ และสร้างสีสันความแปลกใหม่ ต้อนรับประชาชนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ท่ามกลางประชาชน สนใจ นำบุตรหลานเข้าเที่ยวชมจำนวนนับร้อยคน
นายกีรติ ฯ เปิดเผยว่า จากการค้นพบโดยคณะทีมวิจัย ประกอบด้วยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ,นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมง ระดับชำนาญการ สนง.ประมงทางทะเล จ.ระนอง ,มิสเตอร์โอลิเวียร์ โอเอส จี พาว์เวล ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลานประเทศเบลเยี่ยม ,ดร.สันสรียา วังกุรางกูล คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลาศรีนครินทร์ ,นายอวัช นิติกุล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต และนายภมร สัมพันธมิตร ผอ.โครงการคืนชะนีสู่ป่า มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ที่ได้ร่วมกันใช้เวลากว่า 5 ปี ในการศึกษาค้นคว้า สำรวจค้นหาสัตว์ในกลุ่มตุ๊กกายลายพาด หรือ Cyrtodactylus pulsellus เพิ่มอีก 4 กลุ่มใหม่ของโลก ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย และบริเวณพื้นที่ติดกับภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย ได้แก่
1.ตุ๊กกายประดับดาว Cyrtodactylus astrum เป็นตุ๊กกายขนาดใหญ่ ตัวสีน้ำตาล อมเหลือง มีเกร็ดตุ่มยอดมนบริเวณหลัง มีลายจางๆ พาดจากปลายจมูกจนถึงตา บริเวณต้นคอมีลาย 4 แถบ พาดไปกับลำตัวจนถึงโคนขาหลัง มีจุดขาว หรือจุดสีเหลือง กระจายทั่วทั้งแถบ มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้า มีถิ่นอาศัยในพื้นที่เขาหินปูนในป่าดิบชื้น และบนเกาะในเขตช่องแคบมะระกา กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ จ.สตูล เกาะตะรุเตา และตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย
2.ตุ๊กกายท้าวแสนปม Cyrtodactylus macrotuberculatus ลักษณะเด่นมีหัวขนาดใหญ่ ลำตัวหนา มีเกล็ดเป็นตุ่มขนาดใหญ่กระจายทั่วตัว พบหากินตามต้นไม้ขนาดใหญ่ พื้นที่บริเวณหินแกรนิตขนาดใหญ่ในป่าดิบชื้น ป่าทดแทน และสวนยางพาราที่มีความชื้นสูง ขุดดินเป็นรูทำรัง หากินเวลากลางคืน กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ จ.ตรัง ,สงขลา ,พัทลุง ,นราธิวาส ,เกาะอาดัง –ราวี จ.สตูล และหมู่เกาะในเขตช่องแคบมะระกา
3.ตุ๊กกายหมอบุญส่ง Cyrtodactylus lekaguli มีชื่อพ้องสำคัญคือ Cyrtodactylus pulchellus Gray ,1827 ลักษณะเด่นมีตัวสีน้ำตาลอมเหลือง มีลายสีน้ำตาลเข้มคาดระหว่างไหล่ถึงโคนขาหลัง จำนวน 4 -6 แถบ มีจุดขาวเรียงตามขอบแถบ มีเกร็ดตุ่มบริเวณหลังขนาดใหญ่ ถิ่นอาศัยบริเวณเขาหินปูนในป่าดิบชื้น กระจายพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางของประเทศไทย ตามแนวเทือกเขานครศรีธรรมราช และเขาบรรทัด จรด จ.สตูล ซึ่งทั้งหมดได้รับการรับรองว่าถูกค้นพบเป็นครั้งแรกของโลก จาก Dr.Lee Grismer รองบรรณาธิการ วารสาร Zootaxa และคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัย La Sierta เมื่อช่วงกลางปี พศ.2555 ที่ผ่านมานี้ ถึงแม้นว่าลักษณะทางกายภาพของตุ๊กกาย จะมีความคล้ายคลึงกันกับตุ๊กแก แต่มีความแตกต่างด้านพฤติกรรมการเอาชีวิตรอดในธรรมชาติ เช่น ฝ่ามือ –ตีน ของตุ๊กกาย จะไม่มีปุ่มดูดเกาะ การวางไข่เป็นลูกแยกกัน ไม่เกาะติดกันเป็นแผง