สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ กรณี “คนไทย” กับ “การเมืองไทย” ปีนี้กับปีหน้า จำนวน 1,604 คน วันที่ 23-28 ธ.ค. เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง และแสวงหาฐานข้อมูลด้านความคิดเห็นของประชาชน สรุปผลดังนี้
1.ประชาชนมอง “ภาพรวมการเมืองไทยปี 2555” อย่างไร? อันดับ 1 มีแต่ความวุ่นวาย ขัดแย้งแตกแยกกันเหมือนเดิม /เล่นเกมการเมืองกันไปมา ไม่สร้างสรรค์ ร้อยละ 61.54 อันดับ 2 สถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน มีการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงเป็นระยะ ๆ ร้อยละ 24.80 อันดับ 3 ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลยังทำหน้าที่ของตนเองต่อไปบนความคิดเห็นแตกต่างกัน ร้อยละ 13.66
2.“เรื่องดีๆ” ของ “การเมืองไทย ปี 2555” ในทัศนะของประชาชน อันดับ 1 มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 41.51 อันดับ 2 ภาพความร่วมมือกับนานาประเทศ เช่น ผู้นำสหรัฐและจีนมาเยือนไทย ร้อยละ 30.17 อันดับ 3 รัฐบาลและฝ่ายค้านมีการประชุม ปรึกษาหารือเรื่องแก้ปัญหาไฟใต้ร่วมกัน ร้อยละ 28.32
3.“เรื่องแย่ๆ” ของ “การเมืองไทย ปี 2555” อันดับ 1 นักการเมืองทะเลาะเบาะแว้ง ขาดความสามัคคี ไม่มีคุณธรรม ใช้ความรุนแรง เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ร้อยละ 57.43 อันดับ 2 การทุจริตคอร์รัปชั่น ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด หาผลประโยชน์ใส่ตน ไม่คำนึงถึงประชาชน ร้อยละ 31.02 อันดับ 3 การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลท่ามกลางความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างกัน ร้อยละ 11.55
4.สิ่งไหน/เรื่องใด? ของ “การเมืองไทย ปี 2555 ที่อยากทิ้ง” ให้หมดไปพร้อมกับปีเก่าที่กำลังจะสิ้นสุดลง อันดับ 1 การขาดความสามัคคี ความขัดแย้งแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ร้อยละ 64.56 อันดับ 2 การทุจริตคอร์รัปชั่น ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ร้อยละ 22.18 อันดับ 3 นักการเมืองที่มีความประพฤติไม่ดี ไม่เหมาะสม ขาดคุณธรรมจริยธรรม ร้อยละ 13.26
5. มอง“การเมืองไทย ปี 2556” อย่างไร? อันดับ 1 คงจะเหมือนเดิม ร้อยละ 55.63 เพราะนักการเมืองแต่ละฝ่ายยังเล่นเกมการเมืองและขัดแย้งกันเหมือนเดิม อันดับ 2 น่าจะดีกว่าปี 2555 ร้อยละ 23.59 เพราะรัฐบาลรับรู้ปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองและพยายามแก้ไขให้ดีขึ้น เรื่องต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่น่าจะเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น เป็นต้น อันดับ 3 ปี น่าจะแย่กว่าปี 2555 ร้อยละ 20.78 เพราะมีหลายเรื่องที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการประชานิยมที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ทำให้ประเทศชาติมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น