อึ้ง!ติดเกมรุนแรงจนอึราดหน้าจอ

ภาพจาก คมชัดลึกภาพจาก คมชัดลึก



อึ้ง!หนุ่มติดเกมรุนแรงจนอึเรี่ยราดหน้าจอ แถมพ่อเพื่อนตัวดีดัดแปลงบ้านเปิดเป็นร้าน ชี้แนวโน้มเด็กติดเกมเพิ่มเป็นปัญหาทั่วโลก แนะพ่อแม่สร้างกติกาก่อนเล่น
               
วันที่ 20 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) มีการจัดเวทีสช.เจาะประเด็น "คุมเข้มเด็กเล่นเกม :ลิดรอนสิทธิ หรือ ช่วยสร้างสรรค์" โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า สถิติของการติดเกมอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำรวจตั้งแต่ 2551 เด็กมีพฤติกรรมุรนแรง 5 %  ปี 2552 ราว 9 % ปี 2554 ประมาณ 14.49 % จึงต้องมีการบำบัดรักษาโดยเริ่มจากการตรวจวินิจฉัยและเก็บข้อมูล เพื่อแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ องค์การอนามัยอยู่ระหว่างการร่างแนวทางวินิจฉัยเด็กติดเกมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา  สะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องระดับโลก ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น   
               
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ตนเจอผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นผู้ชาย อายุราว20 ตอนปลายยายพามาพบจิตแพทย์ เพราะติดเกมอย่างรุนแรงถึงขนาดอึหน้าจอคอมพิวเตอร์และเริ่มเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า ทราบว่าติดเกมตั้งแต่เด็ก เมื่อทำงานมีปัญหากับที่ทำงานจนต้องออกมาอยู่บ้าน และเล่นเกมตลอดเวลา ยายที่ดูแลต้องคอยส่งข้าวน้ำให้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ท้ายที่สุดอึหน้าคอมพิวเตอร์ ยายต้องพาพบจิตแพทย์ แต่ผู้ป่วยกลับไม่รู้สึกว่าตัวเองป่วย จึงไม่เข้ารับการรักษา ซึ่งอาการนี้รุนแรงต้องใช้เวลาในการรักษานาน นอกจากนี้ จากการทำโครงการพัฒนาเครือข่ายในโรงเรียนเพื่อการดูแลและช่วยเหลือนักเรียนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ทำให้ได้ข้อมูลจากการลงพื้นที่จังหวัดหนึ่ง ซึ่งครูได้ติดตามเด็กที่หายจากโรงเรียนราว 10 คนว่า พ่อของเพื่อนดัดแปลงบ้านบริเวณชั้นบนเปิดเป็นร้านเกมเถื่อนให้เพื่อนลูกใช้บริการโดยเก็บค่าบริการ มีที่นอนหมอนและเสื้อผ้าเปลี่ยนให้ด้วย ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำเช่นนี้กับลูกคนอื่นได้อย่างไร
               
"พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถประเมินได้ว่าลูกตนเองติดเกมหรือไม่ ด้วยการดูจากพฤติกรรมการเล่นเกม หากเด็กใช้เวลาในการเล่นเกมส์อย่างน้อย 1 ชั่วโมงติดต่อกันทุกวันๆ พ่อแม่ควรตระหนักว่าลูกเริ่มมีความผิดปกติ หรือดาวน์โหลดแบบประเมินการติดเกมจากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต  www.dmh.go.th เพื่อทำการประเมินลูกแล้วพาพบจิตแพทย์เข้ารับการรักษา ส่วนการป้องกัน พ่อแม่ควรสอนเรื่องวินัย ไม่ควรใช้มาตรการรุนแรงเพราะไม่ได้ผล แต่ควรสร้างกติกาก่อนให้ลูกเล่นเกมเสมอ และต้องกำกับ ติดตามด้วย" นพ.ทวีศิลป์กล่าว 
               
ด้านนพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง กรณีเด็กไทยกับไอที กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 มีมติที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อป้องกันปัญหา อาทิ เน้นการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน และเน้นความเข้มแข็งของธุรกิจไอที ควรละเว้นเหยื่อเด็ก ด้วยการสร้างระบบป้องกันการเล่นเกมของเด็ก เช่น ลงทะเบียนการเล่นด้วยบัตรประชาชน จำกัดเวลาการเล่นต่อวันตามช่วงอายุ มีผู้ดูแลร้านเกมส์สีขาวที่ผ่านการอบรมทำหน้าที่ควบคุมให้ปฏิบัติตามกฎและป้องกันเด็กถูกล่อลวง เป็นต้น
               
"พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26(7)กำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามไม่ให้มีการส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กกระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า อันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น เกมส์ที่มีการออกแบบให้คนติดเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่สร้างระบบปกป้องเด็กเข้าข่ายผิดพรบ.นี้ชัดเจน" นพ.อดิศักดิ์กล่าว
               
นายประดิษฐ์ โปซิว ผู้อำนวยการสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า ระหว่างปี 2552-2555 วธ.ได้อนุญาตเปิดร้านเกมในพื้นที่กทม.ราว 5 พันแห่ง เพิกถอนใบอนุญาต 10 ร้าน ไม่อนุญาตให้เปิดราว 100ร้าน อย่างไรก็ตาม ยังมีร้านเกมที่ไม่ได้เข้าระบบการขออนุญาตจำนวนมากกำลังเร่งดำเนินการ และกำลังแก้ไขพรบ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 เพื่อให้มีการจัดเรตติ้งเกมแทนการอนุญาตหรือไม่อนุญาตเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
               
นางสีดา ตันทะอทิพานิช มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ในต่างประเทศหลายๆประเทศมีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้เด็กแต่ละช่วงวัยเรียนรู้การใช้ไอทีอย่างปลอดภัย โดยเนื้อหาจะปรับเปลี่ยนตามอายุของเด็ก ขณะที่ประเทศไทยไม่มี จึงอยากให้ศธ.จัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อในระบบการศึกษา

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์